มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมมือกับ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ ภายใต้โครงการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมไถ่ชีวิตโค-กระบือถวายเป็นพระราชกุศล และ โครงการฟาร์มกระบือทันสมัย ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาคน พัฒนากระบือ พัฒนาฐานข้อมูล เทคโนโลยี รวมถึงความสัมพันธ์ และพัฒนาความเป็นเลิศในการส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์ พัฒนา รักษาไว้ และใช้ประโยชน์กระบือไทย อย่างยั่งยืนภายในเวลา 5 ปี
ดร. จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยนายวัลลภ เจียรวนนท์ ประธานโครงการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ร่วมไถ่ชีวิตโค-กระบือถวายเป็นพระราชกุศล มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ ลงนามผูกพันตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือมือทางวิชาการ ด้านการผลิตและปรับปรุงพันธุ์กระบือไทยเป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2566 – 2571 เมื่อวันอังคารที่ 17 มกราคม 2566 ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมุ่งเน้น ความร่วมมือในการส่งเสริม วิจัย และพัฒนางานวิชาการและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องในทุกขั้นตอนที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน และจะช่วยกันประสานการดำเนินงานเพื่อนำผลที่ได้ไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแท้จริงและเกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
โดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะสนับสนุนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ข้อมูล และความรู้เชิงวิชาการ และ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ จะสนับสนุนข้อมูล สถานที่ สัตว์ทดลอง อุปกรณ์ ความร่วมมือในเชิงปฏิบัติที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับการส่งเสริม วิจัย และพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีที่จะดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งครอบคลุมถึงการฝึกอบรมบุคลากรและนิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเกษตรกรผู้ผลิตกระบือไทยที่เป็นสมาชิกในเครือข่ายของหน่วยงานทั้งสอง โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. สุตเขตต์ นาคะเสถียร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร. วราภา มหากาญจนกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.สวัสดิ์ ธรรมบุตร และคุณสารกิจ ถวิลประวัติ รองประธานโครงการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ร่วมไถ่ชีวิตโค-กระบือถวายเป็นพระราชกุศล มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมเป็นสักขีพยาน
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ (โครงการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมไถ่ชีวิตโค-กระบือถวายเป็นพระราชกุศล และ โครงการฟาร์มกระบือทันสมัย) ภายใต้การบริหารจัดการและรับผิดชอบของ นายวัลลภ เจียรวนนท์ ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตกระบือไทยให้กับเกษตรกร ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการไถ่ชีวิตกระบือพื้นเมืองไทยให้มีอายุยืนยาว เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และ พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ อนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมกระบือพื้นเมืองไทย เพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน สร้างอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืนแก่เกษตรกรผู้อนุรักษ์กระบือพื้นเมืองไทย และวิจัยหารูปแบบการอนุรักษ์กระบือพื้นเมืองไทยให้อยู่คู่ประเทศไทย
มีเป้าหมายหลักในการศึกษาและพัฒนาระบบการผลิตกระบือพื้นเมืองไทยในเชิงธุรกิจ เพื่อสร้างอาชีพที่มั่นคงและมีรายได้สูงเป็นแรงจูงใจให้เกิดการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน และเป็นศูนย์กลางในการพัฒนากระบือพื้นเมืองไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปัจจุบัน โครงการฯ ได้มอบแม่พันธุ์กระบือ อายุประมาณ 3 – 4 ปี จำนวน 8 ตัวต่อฟาร์ม ให้แก่เกษตรกร รวม 43 ฟาร์ม ที่อาศัยอยู่ใน 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครพนม บึงกาฬ และเลย
ทั้งนี้ แม่พันธุ์กระบือแต่ละตัวได้รับการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อพันธุ์แช่แข็งจากพ่อพันธุ์กระบือที่ชนะการประกวดระดับประเทศ หรือ ที่ได้รับการผสมจริงโดยพ่อพันธุ์ที่เป็นลูกของพ่อพันธุ์ชนะการประกวดหรือพ่อพันธุ์จากฟาร์มทั่วไป โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาพันธุกรรมสำหรับรูปร่าง (รอบอกใหญ่ ลำตัวยาว สูง สง่า) และ การเจริญเติบโต (น้ำหนักตัว) ที่อายุต่าง ๆ ในปัจจุบันเกษตรกรที่ร่วมโครงการฯ สามารถผลิตกระบือรุ่นใหม่ได้มากกว่าหนึ่งพันตัวและสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจให้กับผู้ผลิตได้อย่างเพียงพอ
ในส่วนของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การพัฒนาองค์ความรู้ ผลงานวิจัย และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกระบือนั้นเริ่มต้นพร้อมการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. จรัญ จันทรลักขณา ได้วิจัย พัฒนา และส่งเสริมการผลิตกระบือ สร้างผลงานทางวิชาการจำนวนมากจนได้รับการยอมรับว่าเป็น ผู้เชี่ยวชาญกระบือในระดับสากล นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังเป็นศูนย์กลางข้อมูลสารสนเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการผลิตกระบือในระดับนานาชาติ และ ในช่วงปีที่ผ่านมา ด้วยการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน่วยวิจัยเฉพาะทางพันธุศาสตร์สัตว์ในเขตร้อนชื้น (Tropical Animal Genetic Special Research Unit; TAGU) ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร ภายใต้การนำของ รองศาสตราจารย์ ดร. ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ ได้พัฒนาและประยุกต์ใช้ระบบการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมจีโนม (Genomic Evaluation System)เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและศักยภาพทางพันธุกรรมของสัตว์เศรษฐกิจ หลายชนิด เช่น โค สุกร ปลา และกุ้ง ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จนเป็นที่ประจักษ์ในระดับชาติ (รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น) และนานาชาติ
นอกจากนี้ยังได้พัฒนา (1) การผลิตกระบือในรูปแบบเครือข่าย (2) เทคนิคการผลิตกระบือขุนคุณภาพ (3) การตัดแต่งเนื้อกระบือในมาตรฐานสากล (4) รูปแบบการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ปรุงจากเนื้อกระบือ และ (5) การสร้างความรู้และความเข้าใจในธุรกิจและการบริโภคเนื้อกระบือขุนคุณภาพของไทย เชื่อมโยงเป็นสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ (Business Chain) ร่วมกับ บริษัท สไมล์บีฟ จำกัด เครือร้านอาหารรสดีเด็ด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือ โครงการฟาร์มกระบือทันสมัย (โครงการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ร่วมไถ่ชีวิตโค-กระบือถวายเป็นพระราชกุศล, มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์) และ พันธมิตรหลายหน่วยงาน ความโดดเด่นและความพร้อมเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์และพัฒนาความสามารถในการผลิตกระบือไทยตลอดจนการแข่งขันทางธุรกิจ
ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกันในครั้งนี้ (พ.ศ. 2566 – พ.ศ. 2571) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์จะนำความโดดเด่น ความพร้อม และ ความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่าย มาร่วมกันสร้างผลงานทางวิชาการ นวัตกรรม และผลสัมฤทธิ์ ในการส่งเสริมการผลิตและปรับปรุงพันธุ์กระบือไทย ให้มีคุณสมบัติดี โดดเด่น สม่ำเสมอ เป็นที่ต้องการ และสามารถสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจให้กับผู้ผลิตและทุกภาคส่วนที่อยู่ร่วมในสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ (Business Chain) ได้อย่างเพียงพอและแข่งขันได้ สอดคล้องกับแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาให้กระบือไทยอยู่คู่อย่างมีคุณค่าในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน