โดย…วิศาล พูลเพิ่ม
ปี 2565 ที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงสุกรไทย ต้องฝ่าฟันวิกฤตที่ถาโถมมาตลอดทั้งปี เริ่มตั้งแต่การระบาดของ “โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร” หรือ “ASF” ที่สร้างความสูญเสียอย่างรุนแรง จำนวนสุกรลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณเนื้อหมูไม่เพียงพอต่อการบริโภค เปิดโอกาสให้มิจฉาชีพฉกฉวยโอกาสลักลอบนำเข้า “หมูเถื่อน” เข้ามาเทขายในราคาถูก ทำให้ราคาสุกรหน้าฟาร์มตกต่ำ ซ้ำเติมเกษตรกรที่ต้องแบกรับภาระ “ต้นทุนการผลิตสูง” ทั้งราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากปัญหาสงครามรัสเซียยูเครน การอ่อนตัวของค่าเงินบาท และนโยบายรัฐที่ทำให้ข้าวโพดไทยมีราคาสูงกว่าตลาดโลก นอกจากนั้นยังมีต้นทุนจัดการระบบป้องกันโรคที่เพิ่มขึ้น แต่เกษตรกรหลายรายก็ยังยืนหยัดประคับประคองธุรกิจจนผ่านเข้าสู่ ปี 2566 มาได้
อย่างไรก็ดี อุปสรรค หรือโจทย์ใหญ่ที่ผู้เลี้ยงสุกรยังต้องเผชิญในปีนี้ เริ่มจาก “ต้นทุนการผลิตสูง” ซึ่งสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย คาดการณ์ว่า ในปี 2566 นี้ ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป ขณะที่ไทยผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้เพียง 40% ที่เหลืออีก 60% ต้องพึ่งพาการนำเข้า ทั้งกลุ่มคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ และกลุ่มโปรตีน เช่น ถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง และ DDGS ที่ราคาปรับขึ้นลงตามปัจจัยภายนอก ได้แก่ ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่มีสัญญาณว่าจะสิ้นสุดได้ในเร็ววัน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศต่างเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายสำคัญของโลก
นอกจากนั้น ประเทศจีนผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลกที่เร่งกวาดซื้อวัตถุดิบจำนวนมหาศาล หลังเศรษฐกิจกำลังฟื้นฟูหลังวิกฤตโรคโควิด-19 สวนทางกับประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบที่สำคัญของโลกต้องประสบปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตไม่ได้ตามเป้า ทำให้ราคาปรับขึ้น ประกอบกับภาวะเงินบาทอ่อน ส่งผลให้การนำเข้าวัตถุดิบมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ นโยบายภาครัฐ ที่ต้องการดูแลเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ ทั้งมาตรการประกันรายได้ การจำกัดเวลานำเข้าข้าวโพด มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3:1 รวมถึงการจัดเก็บภาษีนำเข้า เช่น ภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% ปลาป่น 15% DDGS 9% รวมถึง ข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO ในโควต้า 20% นอกโควต้า 73% เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ ทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น โดยคาดว่า ในปี 2566 ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์จะปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 10% เมื่อรวมกับต้นทุนค่าแรง ค่าพลังงาน ที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ที่น่าจะปรับขึ้นประมาณ 15-20% ย่อมกระทบต่อต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์แน่นอน ผู้เลี้ยงสุกรจึงหลีกเลี่ยงภาระต้นทุนสูงได้ยาก เมื่อรวมกับต้นทุนค่าระบบไบโอซีเคียวริตี้เพื่อป้องกันความเสียหายจากโรคระบาด โดยเฉพาะ โรค ASF เข้าไปด้วย ถือเป็นความท้าทายของเกษตรกรในการบริหารจัดการ เพื่อให้ผ่านโจทย์ที่สำคัญข้อนี้ไปได้
ขณะที่ “ASF” ยังถือเป็นอีกโจทย์สำคัญของการเลี้ยงสุกรในปี 2566 แม้ไม่มีรายงานการพบไปทุกพื้นที่เหมือนกับช่วงแรกของการระบาด แต่เชื้อ ASF ก็ยังวนเวียนพร้อมสร้างปัญหาได้ทันทีที่เกิดความบกพร่องในการป้องกันโรค ยิ่งในภาวะที่ดูเหมือนว่า โรคสงบลงไปแล้ว ยิ่งต้องระวัง ไม่ประมาทคิดว่า โรคสงบลงไปแล้ว เกษตรกรต้องไม่ละเลยการปฏิบัติตามระบบไบโอซีเคียวริตี้อย่างเคร่งครัด เพราะหากพลาดโรคเข้าไปความเสียหายซ้ำอีก ก็อาจฟื้นฟูการเลี้ยงกลับมาใหม่ได้ยาก ดังนั้น ผู้เลี้ยงต้องเฝ้าระวังป้องกันโรคอย่างเข้มงวดตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เชื้อ ASF หลุดเล็ดลอดเข้าไปสร้างปัญหาในฟาร์ม
สุดท้าย “หมูเถื่อน” โจทย์ใหญ่ ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงสุกรในทุกมิติ เนื่องจาก “หมูเถื่อน” ที่ลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศทั้ง สหรัฐอเมริกา บราซิล เยอรมนี สเปน อาร์เจนตินา เนเธอร์แลนด์ เวียดนาม และกัมพูชา โดยไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพและโรคติดต่อ มีความเสี่ยงสูงที่จะนำเชื้อ ASF หรือโรคระบาดอื่นๆ เข้ามาสร้างความเสียหายต่อการเลี้ยงสุกรไทยซ้ำอีก และหมูเถื่อนยังเทขายในราคาถูกมาก ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูและสุกรมีชีวิตในประเทศตกต่ำ เพราะความต้องการตลาดลดลง ทำให้ผู้เลี้ยงสุกรยิ่งขาดทุนอย่างหนัก หมดกำลังใจฟื้นฟูการผลิต แม้ตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา
ที่ผ่านกรมปศุสัตว์จะร่วมกับกรมศุลกากรปฏิบัติการตรวจจับและทำลายหมูเถื่อนไปกว่า 1 ล้านกิโลกรัม แต่ก็ไม่เคยสืบสวนไปจับตัวการใหญ่ได้เลยสักครั้ง ทั้งๆ ที่ หมูเถื่อนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เพราะส่วนใหญ่เป็นเนื้อหมูเก่าเก็บข้ามปี หมดอายุ บางล็อตมีสารอันตรายตกค้าง โดยเฉพาะข่าวใหญ่ที่ตรวจจับได้เมื่อปลายปี 2565 พบเนื้อสัตว์ที่คาดว่า ลักลอบนำเข้ามาแช่ฟอร์มาลินเตรียมส่งขายไปยังร้านหมูกระทะและอาหารอีสานต่างๆ หลังจากข่าวออกไปก็กระทบกำลังการบริโภคช่วงหนึ่ง ถือเป็นปัญหาที่ต้องเร่งจัดการ โดยหน่วยงานภาครัฐต้องทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง ในขณะที่ผู้เลี้ยงสุกรก็ต้องให้ความร่วมมือในการแจ้งเบาะแส เพื่อกำจัด “หมูเถื่อน” ให้ให้สิ้นซาก
จาก 3 โจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย ในปี 2566 นี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจำเป็นต้องปรับตัว เริ่มตั้งแต่การวางแผนการผลิต การเฝ้าระวังป้องกันโรค และการปฏิบัติตามระบบไบโอซีเคียวริตี้อย่างเข้มงวด เพื่อลดความสูญเสียในกระบวนการเลี้ยงให้ต่ำที่สุด เพราะเป็นปัจจัยหลักที่เกษตรกรควบคุมได้ ควบคู่กับการศึกษาหาข้อมูลการใช้วัตถุดิบทดแทน เพื่อนำมาปรับใช้อย่างถูกต้อง รวมถึงการบริหารจัดการฟาร์มแบบมืออาชีพ ที่ต้องเปิดใจเรียนรู้และพัฒนาทักษะการจัดการอย่างต่อเนื่อง และการขอคำแนะนำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ นักวิชาการ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการเลี้ยงสุกรให้ได้มาตรฐาน ทั้งลดความเสี่ยงจากโรคระบาด ลดความสูญเสีย ลดต้นทุน และสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงสุกรได้อย่างยั่งยืน…