ผู้เลี้ยงหมูครวญ “กงกรรม” ราคาเนื้อหมูโดนคุม ต้นทุนวัตถุดิบสูง

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…สมสมัย หาญเมืองบน นักวิชาการอิสระ

                                                                        แฟ้มภาพ

     ปี 2565 กำลังจะผ่านไป เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว หลังเผชิญมหันตัยภัยโควิด-19 มายาวกว่า 2 ปี รวมทั้งเกิดเหตุการณ์ทั้งระดับโลกและระดับประเทศเกิดขึ้นแบบไม่คาดคิดหลายเรื่อง ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก เช่น ไทยประกาศพบโรค ASF ผลผลิตหายไปมากกว่า 50% ก่อนรัสเซียประกาศสงครามถล่มยูเครน และยืดเยื้อมาถึงทุกวันนี้ จุดชนวนวิกฤตอาหารและพลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น 30% พลังงานเพิ่มมากกว่า 20%

      สองเหตุการณ์ที่ยกมาข้างต้น ทำ “งานเข้า” เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทย นอกจากต้องทำลายแม่หมูและหมูขุนในฟาร์มแล้ว ซ้ำยังต้องแบกต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทั้งจากวัตถุดิบอาหารสัตว์และปัจจัยการป้องกันโรค ตลอดจนพลังงาน ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงเป็นประวัติการณ์แตะ 13.50 บาทต่อกิโลกรัม จนถึงวันนี้ราคายังอยู่ที่ 13 บาท เทียบเวลาปกติราคาสูงสุดอยู่ที่ 10 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ข้าวสาลีที่เคยใช้ทดแทนข้าวโพดเพื่อลดต้นทุน ราคากลับแซงหน้าไปอยู่ที่ 15 บาทต่อกิโลกรัม แม้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์จะปรับลดลงบ้างแต่ไม่กลับไปยืนที่เดิม

      “กงกรรม” ในห่วงโซ่การผลิตหมูวันนี้ คือ เนื้อหมูและอาหารสัตว์ เป็นสินค้าควบคุมภายใต้การบริหารจัดการของกระทรวงพาณิชย์ ยิ่งในช่วงที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อของประเทศ  การคุมราคาจะถูกรัดเข็มขัดแน่นเอี้ยด การขอขึ้นราคาขายจึงเป็นเรื่องที่ “เป็นไปไม่ได้” แม้จะมีการผ่อนปรนมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ระยะสั้น 3 เดือน (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2565) ภาษีเป็นศูนย์ แต่ก็คุมปริมาณนำเข้าไม่ให้เกิน 6 แสนตัน ซึ่งเป็นการนำเข้ามาแก้ขัด มากกว่าแก้ปัญหาระยะยาว เพราะช่วงเวลาดังกล่าว การหา “ของ” ในราคาที่เหมาะสม ไม่ใช่เรื่องง่าย มีแต่หายากและ “แพงมาก”

     ที่สำคัญ ผู้เลี้ยงหมูได้รับผลกระทบจากหมูเถื่อนหลั่งไหลเข้ามาในประเทศ ช่วงที่ผลผลิตไทยขาดแคลน และการใช้กลยุทธ์ “ดั๊มพ์ราคา” ของเหล่ามิจฉาชีพ จูงใจผู้บริโภค เขียงหมู ร้านอาหารต่าง ๆ เป็นอย่างดี เพราะคนไทยยังพอใจกับของถูก แต่ไม่สนใจคุณภาพ หมูไทยหมดทางสู้ ทั้งที่หมูไทยปลอดโรค ปลอดภัย จนกระทั่งพบ “เนื้อแช่ฟอร์มาลิน” ในถังจำนวนมากที่จังหวัดระยอง เพื่อรอส่งต่อร้านหมูกระทะและร้านอาหารอีสาน รวมถึงผู้บริโภคหมูกระทะแล้วเกิดต้องหามส่งห้องผู้ป่วยวิกฤต (ICU) และอีกรายที่แพ้สารเคมีแช่เนื้อ ทำให้ความต้องการลดลง ผลผลิตไม่มีที่ขาย ราคาอ่อนตามกลไก

      ด้านสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ คาดการณ์แนวโน้มราคายืนแข็งและมีทิศทางเป็นบวกในช่วงของเทศกาลปีใหม่ เนื่องปริมาณสุกรสะสมที่มีขนาดใหญ่ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศ โดยต้นทุนเฉลี่ยของเกษตรกรในไตรมาส 4 อยู่ที่ 101.10 บาทต่อกิโลกรัม สวนทางกับราคาประกาศของกรมการค้าภายใน ที่แจ้งว่า ราคาเนื้อหมูปรับลดมาตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน และราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มอยู่ที่ 96 บาทต่อกิโลกรัม (เกษตรกรขายขาดทุน)

     ส่วนสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เรียกร้องไปยังกระทรวงพาณิชย์หลายรอบจนคอแห้ง ขอให้ยกเลิกมาตรการรัฐทั้งหลายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาภาคปศุสัตว์ของไทย ทั้งโควต้าและภาษีนำเข้า ทำให้ดูเหมือนว่ารัฐต้องการปกป้องชาวไร่ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ในความเป็นจริงคุ้มครองพ่อค้าพืชไร่มากกว่า ทั้งที่ข้าวโพดในประเทศผลิตไม่พอใช้และราคาปรับขึ้นเกือบ 40% แต่ยังคุมราคาเนื้อสัตว์และอาหารสัตว์เหมือนเดิม อะไรคือกลไกตลาด ความเป็นธรรมและเหมาะสม

      เห็นต้นทุนการผลิตของเกษตรกรชัดๆ แบบนี้แล้ว ถึงเวลาที่ภาครัฐควรทบทวนนโยบายควบคุมราคาสินค้าทั้งหมดหรือยัง? ไม่เพียงเฉพาะราคาเนื้อสัตว์และอาหารสัตว์เท่านั้น เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตสินค้าต้องเผชิญปัญหาเหมือนกันคือต้นทุนสูง แต่ปรับราคาไม่ได้ นโยบายควบคุมราคาสินค้าต้องทำอย่างเป็นธรรม ถ่วงดุลอย่างเหมาะสมไม่ให้เกิดผลกระทบกับผลผลิตและราคาในประเทศ หากคุมเข้มจนตึงเกินไปสินค้าหายไปจากตลาด โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นต่อการอุปโภค-บริโภค เกิดตลาดมืดราคาอาจพุ่งสูงสุดๆ และควบคุมไม่ได้ ภาระตกหนักกับผู้บริโภค เกษตรกร และผู้ผลิต หากจะแก้ “กงกรรม” ด้วยการค้าเสรี มีกลไกตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนราคาและการผลิต ให้ฟันเฟืองในห่วงโซ่ทำงานโดยไม่หยุดชะงัก จะเป็นไปได้เมื่อไหร่…เป็นคำถามที่สังคมรอคำตอบ