นักวิชาการ ชี้ “หมูเถื่อน” ลักลอบนำเข้าเป็นภัยร้ายทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรไทยใน 2 มิติหลัก “อุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูไทย- ความเสี่ยงต่อสารปนเปื้อนกระทบต่อผู้บริโภค” ระบุที่เห็นชัดอนาคตของเกษตรกรรายย่อย เสี่ยงเป็นพาหะนำโรค ASF เข้ามาระบาดซ้ำ ถือเป็นการบั่นทอนห่วงโซ่การผลิตอาหารของประเทศ และสร้างปัจจัยเสี่ยงในการบริโภคอาหารของคนไทย ย้ำต้องปราบปรามอย่างเด็ดขาด เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและภาพลักษณ์หมูไทยให้เป็นที่ยอมรับ ด้านความปลอดภัยตามแนวทางหลักสู่การเป็น “ครัวของโลก”
ผศ.น.สพ. ณัฐวุฒิ รัตนวนิชย์โรจน์ รองคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) กล่าวว่า หมูเถื่อน ส่งผลกระทบใน 2 มิติหลักๆ คือ 1. ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูไทย และ 2. ความเสี่ยงต่อสารปนเปื้อนกระทบต่อผู้บริโภค สำหรับผลกระทบกับอุตสาหกรรม หมูเถื่อนทำให้มีหมูราคาถูกจำนวนมากทะลักเข้าไทย บิดเบือนกลไกราคา ผู้เลี้ยงหมูไทยไม่สามารถขายสุกรได้ตามต้นทุนการเลี้ยงที่แท้จริง ได้รับความเสียหายและมองไม่เห็นอนาคตและโอกาสในการทำกำไรจากการเลี้ยงได้ ไม่มีหลักประกันความมั่นคงในอาชีพที่จะเลี้ยงหมูอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ หมูเถื่อน ยังมีความเสี่ยงที่จะมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค ASF และเป็นพาหะของโรค ซึ่งคุมได้ยากมากและมีโอกาสกลับมาระบาดในไทยและสร้างปัญหาให้กับประเทศได้
นอกจากหมูเถื่อน จะถูกลักลอบนำเข้ามาในลักษณะแช่แข็งแล้ว ยังเข้ามาในรูปแบบของ หมูมีชีวิต ซึ่งเป็นพาหะของโรคที่สำคัญมาก หากประเทศต้นทางยังมีการแพร่ระบาดของโรค ASF จะส่งกระทบทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทั้งผู้เลี้ยงหมู โรงงานอาหารสัตว์ ผู้บริโภค และยังกระทบกับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพราะการระบาดของโรค ASF มีโอกาสทำให้หมูตาย 95-100% แม้ว่าโรคนี้ไม่ติดคนและเนื้อสุกรยังมีความปลอดภัย แต่เมื่อคนกินเข้าไปจะเป็นพาหะติดตามเนื้อตัว หรือ ทางอุจจาระ ที่สำคัญหมูเป็นหนึ่งในความมั่นคงทางอาหารของไทยมานาน ประเทศที่มีสงครามส่งผลให้อาหารและเนื้อสัตว์ขาดแคลน แต่ไทยไม่ค่อยมีผล เพราะไทยเป็นประเทศที่ผลิตอาหารและเป็นครัวของโลก
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า การตรวจสอบคุณภาพหมูเถื่อนทำได้ยาก จึงมีความเสี่ยงในการบริโภค เนื่องจากหลายประเทศยังอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดง ชนิดแรคโทพามีน (Ractopamine) เช่น สหรัฐ บราซิล ประเทศที่ไม่อนุญาตให้ใช้ คือ ประเทศทางยุโรป หากหมูเถื่อนมาจากประเทศที่ยังใช้สารเร่งเนื้อแดงมาขายในตลาด จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคโดยตรง และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทย เพราะไทยหยุดใช้สารเร่งเนื้อแดงมานานเกินกว่า 20 ปี สำหรับสารเร่งเนื้อแดง จะทำให้เกิดผลข้างเคียง โดยเฉพาะการกินเครื่องในสัตว์ โดยเฉพาะตับที่มีการสะสมของสารเร่งเนื้อแดงจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้บริโภคที่เป็นโรคหัวใจ จะทำให้หายใจติดขัด
“หมูเป็นเนื้อสัตว์ที่ได้รับความนิยมเพราะเนื้อหมูมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ มีกลิ่นเฉพาะตัว ที่สำคัญคือ ระบบการเลี้ยงหมูของไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก และเป็นที่น่ายินดีที่ไทยประกาศยกเลิกการใช้สารเร่งเนื้อแดงมาตั้งแต่ 2547 ซึ่งไทยทำได้ดีมาก ทั้งด้านมาตรฐานความปลอดภัยและมาตรฐานการเลี้ยง” ผศ.น.สพ. ณัฐวุฒิ กล่าว
รองคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ กำแพงแสน มก. กล่าวว่า การนำเข้าเนื้อหมูมีทั้งข้อดีและข้อเสีย กรณีประเทศไทยที่ปริมาณหมูหายไป 40-50% เนื่องจากโรคระบาด ASF ทำให้เนื้อหมูราคาแพงขึ้น ประกอบกับต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทั้งต้นทุนการเลี้ยง อาหารสัตว์และปัจจัยค่าเฝ้าระวังโรค (Biosecurity) สูงมาก กรณีการนำเข้าในภาวะฉุกเฉินจึงต้องมีการควบคุมให้มาจากประเทศที่มีความปลอดภัยสูงและมีปริมาณที่เหมาะสม ไม่ให้หมูราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาดึงราคาในประเทศให้ต่ำลง ส่งกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงภายในประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ความสามารถในการแข่งขันต่ำ
สำหรับการผู้บริโภคเนื้อหมูอย่างปลอดภัยต้องพิจารณาจากสี ต้องเป็นสีชมพู หรือต้องเลือกร้านที่มีการรับรอง หรือ รู้แหล่งที่มาของเนื้อสัตว์ชัดเจน ต้องบริโภคเนื้อที่ปรุงสุก เพราะเนื้อดิบยังมีความเสี่ยงเรื่องโรค สำหรับร้านอาหารและร้านหมูกระทะ การใช้วัตถุดิบราคาถูกอาจมีสารปนเปื้อน เมื่อตรวจพบเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เป็นอันตรายและมีผลข้างเคียงต่อผู้บริโภค หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันตรวจสอบ เกษตรกรและผู้บริโภคต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา ชี้ช่องในการปราบปราม
ส่วนสถานการณ์ ASF ในปัจจุบันของไทย จำนวนสุกรไม่หนาแน่นเหมือนเดิม การระบาดของโรคไม่มากเท่าเดิม แต่ก็ยังมีการระบาดเพราะเชื้อทนทานต่อสิ่งแวดล้อมมากๆ และมีชีวิตอยู่ในสุกรได้เป็นปี สามารถจะติดเชื้อต่อไปได้ จึงมีโอกาสที่การระบาดจะกลับมา ฟาร์มมีการนำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) เช่น การพ่นยาฆ่าเชื้อ การจำกัดคนเข้าและออกฟาร์มให้น้อยลง ระวังสัตว์พาหะ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงหมูไทยสูงขึ้น และมีผลต่อรากฐานการพัฒนาการผลิตอาหารมั่นคงของไทยในอนาคต