กรมปศุสัตว์ มั่นใจ 100% ควบคุมโรคลัมปี สกิน อยู่ในวงจำกัดแน่นอน

  •  
  •  
  •  
  •  

อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยืนยันสามารถควบคุมการระบาดของโรคลัมปี สกิน ได้แล้ว มั่นใจ 100% ควบคุมอยู่ในวงจำกัดแน่นอน เผยจากการสำรวจไม่พบการระบาดเพิ่มแต่อย่างใด มีเพียง 13 จังหวัด ที่พบสัตว์ป่วยจำนวน 1,498 ตัว ชี้ไม่น่ากลัวและไม่รุนแรงเหมือนปี 2564

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงการควบคุมโรคลัมปี สกินว่า กรมปศุสัตว์ สามารถควบคุมอยู่ในวงจำกัดและได้ 100% แน่นอน แต่ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศว่า โรคลัมปี สกิน ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รายงานพบครั้งแรกเมื่อปี 2564 ที่แล้วช่วงปลายเดือนมีนาคม กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการอย่างเข้มงวดในการป้องกันควบคุมโรค จนถึงปลายปี 64 สามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงพื้นที่จำกัดได้

สิ่งสำคัญในการดำเนินการประกอบด้วย 3 อย่าง คือ 1. การใช้วัคซีนในการป้องกัน ซึ่งมีการนำเข้าวัคซีนมาจากต่างประเทศ,  2. การกำจัดแมลงสัตว์พาหะโดยการพ่นน้ำยาฆ่าแมลง, และ 3. การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์อย่างเข้มงวด ซึ่งจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในหน้าร้อนไม่พบสัตว์ป่วยตายเพิ่ม แต่เนื่องจากในหน้าฝน ในบางพื้นที่ยังมีเชื้อโรคอยู่บางแห่ง จากรายงานสามารถควบคุมโรคได้ในวงพื้นที่จำกัด ใน 1 เดือนที่ผ่านมา พบรายงานโรคใหม่ใน 13 จังหวัด ซึ่งเป็นสัตว์ป่วยทั่วประเทศจำนวน 1,498 ตัว จากจำนวนสัตว์ทั้งหมดทั่วประเทศ เกือบ 9 ล้านตัว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนทั้งหมด ซึ่งจากการสอบสวนพบว่าสัตว์ที่ป่วยใหม่เป็นสัตว์ที่ไม่ได้รับวัคซีน

ดังนั้น ขอยืนยันว่าโรคนี้สามารถควบคุมได้ในวงจำกัด เปอร์เซ็นต์ที่เกิดน้อยมากโดยคิดเป็นสัดส่วนการป่วยและตายไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนทั้งหมด และวันนี้จากการพูดคุยกับเกษตรกรไม่เจอสัตว์ตัวป่วยเพิ่มแล้ว สามารถรักษาหายได้จากโคมีภูมิคุ้มกันในระดับดีได้รับมาจากแม่โคที่ทำวัคซีนแล้ว สำหรับการดำเนินการของกรมปศุสัตว์ต่อไป จะเร่งทำการฉีดวัคซีนให้กับลูกโคที่เกิดใหม่หรือตัวที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

“ตอนนี้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนได้แล้วส่วนหนึ่งประมาณ 50,000 โด๊ส แต่ยังไม่เพียงพอจะมีการขยายกำลังการผลิตต่อไป จึงต้องมีการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศอยู่ จนกว่าจะสามารถผลิตได้เพียงพอ ดังนั้นรับประกันและขอยืนยันว่า โรคนี้ไม่มีความรุนแรงเหมือนสถานการณ์เกิดโรคในปี 64 ก่อนแน่นอน ยืนยันได้จากอัตราป่วยและอัตราการตายที่พบน้อยมาก” นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว

สำหรับเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนจะให้ในพื้นที่ที่มีการระบาดโรค และสัตว์ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนก่อนลำดับแรก เช่น จังหวัดแถบอีสานที่มีโคอยู่จำนวนมาก สุดท้ายต้องขอขอบคุณท้องถิ่นและทุกภาคส่วนในพื้นที่ ที่ช่วยร่วมมือกัน ซึ่งในหน้าฝนจะมีแมลงมากซึ่งเป็นตัวพาหะในการนำโรคต้องระวังควบคุมใกล้ชิด และถ้าหากควบคุมไม่มีตัวป่วยและตายเพิ่มในระยะเวลา 1 ปี จะทำการขอคืนสถานะปลอดโรคลัมปี สกิน จากองค์การสุขภาพสัตว์โลกต่อไป ขอให้มั่นใจ 100% เอาอยู่แน่นอน