“ประภัตร” นำทีมลุยอีสาน มอบเงินเยียวยาให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบสัตว์ตายจากโรคลัมปี- สกิน พร้อมผนึก ธ.ก.ส. ผลักดันโครงการ “สานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร” จะเป็นอาชีพการเกษตร หรืออาชีพอื่นก็ได้ มั่นใจสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน
วันที่ 7 มีนาคม 2565 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีมอบเงินเยียวยาให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค – กระบือ ที่ได้รับผลกระทบสัตว์ตายจากโรคลัมปี – สกิน (Lumpy Skin Disease : LSD) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดนครราชสีมา
นายประภัตร กล่าวว่า ถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี – สกิน (LSD) ในโค – กระบือนั้น ภายหลังจากที่รัฐบาลได้อนุมัติงบกลาง 684,218,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมโรคลัมปี – สกิน ในโค – กระบือ กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการจัดซื้อวัคซีนลัมปี – สกิน และภายหลังจากการกระจายวัคซีนชุดใหญ่ไปทั่วประเทศ ส่งผลให้สถานการณ์การระบาดดีขึ้นและในหลายพื้นที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จากข้อมูลสัตว์ป่วยรายวันลดเหลือจำนวนน้อยมาก คาดว่าประเทศไทยจะสามารถขอคืนสถานะปลอดโรคลัมปี – สกิน ได้ในไม่ช้า
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบและเก็บข้อมูลของกรมปศุสัตว์ พบสัตว์ป่วย 69 จังหวัด 624,800 ตัว หายป่วย 541,568 ตัว อยู่ระหว่างรักษา 17,944 ตัว สัตว์ตาย 64 จังหวัด 65,288 ตัว ไม่ขอรับความช่วยเหลือ 3 จังหวัด 4 ตัว ขอรับความช่วยเหลือ 61 จังหวัด 65,288 ตัว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ช่วยเหลือแล้ว 6 จังหวัด 371 ตัว ได้แก่ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา พะเยา ลำพูน และอุตรดิตถ์ วงเงินประมาณ 3 ล้านบาท
ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 4 มีนาคม 2565 ที่ขอความช่วยเหลือจากส่วนกลางแล้ว 55 จังหวัด 64,913 ตัว โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างจัดส่งเอกสารให้กรมปศุสัตว์ 5 จังหวัด และมีการส่งเอกสารขอรับความช่วยเหลือให้กรมปศุสัตว์แล้ว 50 จังหวัด เกษตรกร 59,835 ราย รวมสัตว์ 66,362 ตัว เป็นเงินทั้งสิ้น 1,362,888,330 บาท ให้การช่วยเหลือเกษตรกรแล้วจำนวน 36,949 ราย รวมสัตว์ 41,393 วงเงิน 841,980,500 บาท ใน 47 จังหวัด เป็นการโอนเงินในวันที่ 20 พ.ย. 2564 – 2 มี.ค. 2565) เกษตรกร 15,015 ราย สัตว์ 17,211 ตัว เป็นเงิน 357,077,500 บาท และ วันที่ 4 มีนาคม 2565 เกษตรกร 21,934 ราย สัตว์ 24,182 ตัว เป็นเงิน 484,903,000 บาท และสามารถปิดภัยได้แล้ว 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร มุกดาหาร หนองบัวลำภู อุทัยธานี บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ น่าน และแพร่
สำหรับอัตราการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโค – กระบือตายจากโรคลัมปี – สกิน ตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 นั้น โค ได้ไม่เกินรายละ 5 ตัว อายุน้อยกว่า 6 เดือน 13,000 บาท อายุ 6 เดือนถึง 1 ปี 22,000 บาท อายุมากกว่า 1 ปีถึง 2 ปี 29,000 บาท อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป 35,000 บาท ส่วนกระบือ ไม่เกินรายละ 5 ตัว อายุน้อยกว่า 6 เดือน 15,000 บาท อายุ 6 เดือนถึง 1 ปี 24,000 บาท อายุมากกว่า 1 ปีถึง 2 ปี 32,000 บาท อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป 39,000 บาท
นายประภัตร กล่าวอีกว่า หลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว รัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรทั่วประเทศ โดยเฉพาะหลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค รวมถึงสาธารณภัยต่างๆ จึงได้มีนโยบายให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะการเลี้ยงโครุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนที่เสียหายไปจากการระบาดของโรค ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ พร้อมจะเข้าไปให้การช่วยเหลือ สนับสนุนอย่างเต็มที่ให้กับเกษตรที่มีความสนใจ โดยร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินโครงการ “สานฝันสร้างอาชีพ และยกระดับรายได้เกษตรกร”
มีวัตถุประสงค์ในการปล่อยสินเชื่อสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตร หรืออาชีพนอกภาคเกษตร หรือการลงทุนค้าขาย เพื่อเสริมรายได้ในครัวเรือน เน้นอาชีพที่มีตลาดรองรับชัดเจน มีการประกันราคารับซื้อผลผลิต สามารถสร้างรายได้ในระยะเวลา ไม่เกิน 6 เดือน มีผลตอบแทนเบื้องต้นเพียงพอต่อการดำรงชีพ และสามารถต่อยอดเป็นอาชีพที่มั่นคงต่อไปได้ในอนาคต ซึ่งโครงการดังกล่าว ไม่ได้มีเพียงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเท่านั้น แต่มีเมนูทางเลือกให้กับเกษตรกรในด้านต่าง ๆ ทั้งเมนูอาชีพด้านปศุสัตว์ เมนูอาชีพด้านพืช และเมนูอาชีพด้านประมง โดยสามารถยื่นความประสงค์ขอกู้ตามโครงการได้ 2 ช่องทาง ได้แก่
1) ยื่นขอกู้เงินที่ธนาคาร ธ.ก.ส. สาขาที่ตนเองมีภูมิลำเนาหรือที่ตั้งของโครงการ (Walk In) และ 2) ให้ผู้ขอกู้ลงทะเบียนยื่นขอสินเชื่อผ่านช่องทาง Line Official : BAAC Family และนัดหมายผู้ขอกู้ผ่านระบบนัดหมาย โดยวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน จำนวน 100,000 บาท แต่ต้องไม่เกินค่าใช้จ่ายและหรือค่าลงทุนจริงของลูกค้าแต่ละราย