สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ
เกษตรกร-เอกชน ประกาศพร้อมหนุนกรมปศุสัตว์ เดินหน้าพลิกสถานการณ์วงการเลี้ยงหมูของรายเล็ก รายย่อยเชื่อมั่นว่า จะฟื้นได้ตามแผน พร้อมเรียกร้องให้เลิกคุมราคาหน้าฟาร์ม ปล่อยให้ไปตามกลไกตลาด หวังจูงใจให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรหันกลับมายึดอาชีพเดิมตามที่ถนัด
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ตามที่นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้รายงานต่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าจะแก้ไขสถานการณ์หมูให้ได้โดยเร็วที่สุดนั้น นับเป็นข่าวดีของคนเลี้ยงหมู และขอสนับสนุนการทำงานของกรมปศุสัตว์อย่างเต็มที่ เพราะเกษตรกรทุกคนอยากกลับมาประกอบอาชีพที่ตนเองถนัด เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตหมูเข้าสู่ตลาด และจะทำให้ระดับราคาลดลงตามกลไกตลาด ซึ่งเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
ดังนั้นขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้ท่านนำพาเกษตรกรคนเลี้ยงหมูกลับมาให้เร็วที่สุด ซึ่งทั้งเกษตรกร ภาคเอกชน และทุกคนในแวดวงผู้เลี้ยงจะช่วยกันในทุกด้าน เพื่อเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน รวมถึงผู้เลี้ยงทั่วประเทศกลับเข้าสู่ระบบอีกครั้งอย่างมั่นใจและรวดเร็ว ซึ่งเราควรใช้โอกาสนี้ในการฟื้นฟูและยกระดับการเลี้ยงหมูเข้าสู่มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อสร้างความปลอดภัยในอาหาร และสร้างเสถียรภาพให้อุตสาหกรรมหมูไทย” นายสิทธิพันธ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม การเตรียมเล้าในการลงหมู ยังต้องการความมั่นใจในเรื่องโรคระบาด ซึ่งต้องขอให้กรมปศุสัตว์ ดำเนินการในส่วนนี้อย่างเข้มงวดและเคร่งครัด ดังเช่นที่เอกชนรายใหญ่ดูแลคอนแทร็คฟาร์มมิ่งและช่วยให้เกษตรกรรอดพ้นจากภาวะโรค ส่งผลเกษตรกรรายย่อยกลุ่มนี้สามารถเลี้ยงหมูป้อนสู่ตลาดในช่วงนี้ได้ ขณะเดียวกันการยกเลิกการคุมราคาหน้าฟาร์ม และปล่อยราคาตามกลไก จะเป็นแรงจูงใจเสริมได้อย่างดีว่าเลี้ยงแล้วสามารถขายได้ในราคาตามอุปสงค์อุปทานที่เกิดขึ้น ไม่ต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนสะสมอย่างที่ผ่านมา
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากภาคเอกชนที่ร่วมสร้างความมั่นใจให้เกษตรกร และร่วมแก้ไขสถานการณ์หมูมาตั้งแต่ก่อนพบการระบาด ครั้งนี้ก็เช่นกัน บริษัทฯใหญ่หลายแห่งได้ผนึกกำลังเดินสายช่วยเกษตรกรรายย่อยฟื้นฟูอาชีพ ด้วยการจัดสัมมนาสัญจรในหัวข้อเรื่อง “หลังเว้นวรรค…จะกลับมาอย่างไรให้ปลอดภัย?” โดยนักวิชาการสัตวแพทย์ของซีพีเอฟ นำความรู้และเทคนิคการป้องกันโรคของบริษัทฯ มาถ่ายทอดสู่เกษตรกรรายย่อยในภาคอีสาน งานดังกล่าวจัดขึ้นในเดือนมกราคมนี้ ทั้งที่ จ.ร้อยเอ็ด จ.สุรินทร์ และตามด้วย จ.ศรีสะเกษ เป็นลำดับถัดไป เพื่อปูพื้นฐานที่เข้มแข็งให้กับเกษตรกรรายย่อยที่พร้อมกลับเข้ามาในระบบอีกครั้ง
ส่วนมาตรการระยะสั้น กลาง และยาว ที่รัฐแถลงออกมาก่อนหน้า เป็นสิ่งที่ดีและถูกต้องในการส่งเสริมเกษตรกร ขณะเดียวกันที่นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ จะหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ประมาณ 2% มาสนับสนุนเกษตรกรด้วย เมื่อผนวกกับความร่วมมือร่วมใจของคนเลี้ยงหมู เชื่อว่าจะได้เห็นการฟื้นตัวของเกษตรกรรายย่อยได้ตามเป้าหมายของรัฐในเร็ววัน