ประภัตร โพธสุธน
รานงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรรณ์ แจ้งว่า นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งขับเคลื่อนโครงการ Sandbox ปศุสัตว์ ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาความเป็นไปได้และแนวทางการขับเคลื่อน Sandbox ปศุสัตว์ โดยนำร่องส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อเพื่อจำหน่ายไปยังประเทศ สปป.ลาวและจีน เพื่อเป็นการส่งเสริมการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามข้อสั่งการดังกล่าวข้างต้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการขับเคลื่อน Sandbox ปศุสัตว์ นำร่องชนิดสัตว์โคเนื้อเป็นลำดับแรก โดย Sandbox ปศุสัตว์ หมายถึง “เขตพื้นที่ควบคุมพิเศษเพื่อนำร่องส่งเสริมการผลิตและส่งออกสินค้าปศุสัตว์” เป็นการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และตามความต้องการประเทศคู่ค้า โดยมีองค์ประกอบสำคัญในการจัดทำ Sandbox ปศุสัตว์ ประกอบด้วย 3 โซนพื้นที่ควบคุม คือโซนปลอดโรค คอกกักเพื่อการส่งออก โซนคุมเข้ม และโซนป้องกัน
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่การผลิต เช่น ภาคเอกชน เกษตรกร เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคการเงิน การค้าขายระหว่างประเทศ ภาคการขนส่ง ฯลฯ พื้นที่นำร่อง 5 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย หนองคาย นครพนม/มุกดาหาร พื้นที่ปศุสัตว์เขต 2 และพื้นที่ปศุสัตว์เขต 8,9 พร้อมมาตรการเตรียมผลักดันสู่ Smart Port เชื่อมโยงการค้าขายปศุสัตว์ไทย-ลาว-จีน คือ
1. การเพิ่มปริมาณโคเนื้อและยกระดับสายเลือดโคเนื้อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพผลผลิตในกลุ่มผลิตโคต้นน้ำ
2. การส่งเสริมเพื่อให้มี Central Feedlot เป็นแหล่งเรียนรู้และผลิตอาหารสัตว์คุณภาพดี ราคาเหมาะสมในการเลี้ยงสัตว์เพื่อให้มีความปลอดภัย ลดต้นทุนการผลิต
3. ส่งเสริมและกำหนดแนวทางการผลิตโคขุน ทั้งการขุนระยะสั้นเพื่อผลิตเนื้อแดง สร้างรายได้ระยะสั้น และการขุนระยะยาวเพื่อผลิตเนื้อไขมันแทรกในกลุ่มผู้เลี้ยงโคขุน
4. ส่งเสริม ผลักดันการรับรองมาตรฐานคอกกักเพื่อการส่งออกให้กับภาคเอกชนที่มีความพร้อม
5. การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายใต้ระยะเวลาการปล่อยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร องค์กรเกษตรกร ผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริม พัฒนา และต่อยอดการผลิตตลอดห่วงโซ่
6. ส่งเสริมการผลิตโคเนื้อทั้งระบบตามบทบาทภารกิจ ตั้งแต่การขึ้นทะเบียน การทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ (NID, RFID) การใช้ Platform ในการซื้อ-ขายโคเนื้อ การควบคุมการเคลื่อนย้ายและการขนส่ง การฉีดวัคซีนควบคุมป้องกันโรค (FMD, LSD) การรับรองฟาร์มปลอดโรค (FMD) การเฝ้าระวังการใช้สารเร่งเนื้อแดง การตรวจรับรองมาตรฐาน GFM, GAP
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ ได้เตรียมการเรื่องนี้ และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเร่งรัดให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ Sandbox ปศุสัตว์ เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มช่องทางรายได้ สร้างความมั่นคง ยั่งยืนให้กับเกษตรกร และสร้างโอกาสทางการตลาดแก่อุตสาหกรรมโคเนื้อของประเทศไทย