กรมวิชาการเกษตร อวดโฉ กาแฟอะราบิกาพันธุ์ใหม่ “กวก.เชียงใหม่ 1” ให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคราสนิม รสชาติสัมผัสนุ่ม

  •  
  •  
  •  
  •  
กรมวิชาการเกษตร อวดโฉม กาแฟอะราบิกาพันธุ์ใหม่ “กวก.เชียงใหม่ 1” ให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคราสนิม รสชาติทิ้งทวนยาวนาน รสสัมผัสนุ่ม เผยเป็นการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ Mundo Novo 1535/33 กับพันธุ์ H.W. 26/14 ที่ศูนย์วิจัยโรคราสนิมกาแฟ เมือง Oeiras ประเทศโปรตุเกส ระบุเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนากาแฟในประเทศไทย ที่ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดการนำเข้าพันธุ์กาแฟจากต่างประเทศ และความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกาแฟของไทยด้วย

       นายรพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กาแฟอะราบิกาเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่สูงของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการปลูกกาแฟคุณภาพสูง กรมวิชาการเกษตรจึงมุ่งพัฒนาพันธุ์กาแฟที่ตอบโจทย์ทั้งด้านผลผลิต คุณภาพ และความต้านทานโรค จนได้กาแฟพันธุ์ใหม่ใช้ชื่อว่า “กาแฟอะราบิกากวก.เชียงใหม่ 1” ที่พร้อมสนับสนุนเกษตรกรไทยนับเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนากาแฟในประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดการนำเข้าพันธุ์กาแฟจากต่างประเทศ และความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกาแฟของไทย


                                                                        รพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์

       กาแฟอะราบิกาพันธุ์ “กวก.เชียงใหม่ 1” เกิดจากการคัดการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ Mundo Novo 1535/33 กับพันธุ์ H.W. 26/14 โดยศูนย์วิจัยโรคราสนิมกาแฟ เมือง Oeiras ประเทศโปรตุเกส ได้ถูกส่งไปปลูกคัดเลือกในประเทศแองโกลา บราซิล โปรตุเกส รวมถึงประเทศไทย โดยการคัดเลือกพันธุ์และเปรียบเทียบในหลายพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์วิจัยและส่งเสริมกาแฟอะราบิกาแม่หลอด ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงรายจนได้สายพันธุ์ดีเด่น คือ กาแฟอะราบิกาสายพันธุ์คาร์ติมอร์ H420/9ML2/8KW78KK106ML3/1WW29/10  ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์กาแฟอะราบิกาสายพันธุ์คาติมอร์ H420/9ML2/8KW78KK106ML3/1WW29/10 ดำเนินงานโดยศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ สถาบันวิจัยพืชสวน เป็นหลัก จึงตั้งชื่อพันธุ์ว่า “กาแฟอะราบิกาพันธุ์ กวก.เชียงใหม่ 1”

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวอีกว่า อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า ลักษณะเด่นของกาแฟอะราบิกาพันธุ์ กวก.เชียงใหม่ 1 ที่สำคัญคือ มีความต้านทานต่อโรคราสนิมสูงถึง 97.72 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งโรคราสนิมเป็นโรคสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตกาแฟอะราบิกา และยังให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่ากาแฟพันธุ์เดิมที่เกษตรกรนิยมปลูก โดยกาแฟอะราบิกาพันธุ์กวก.เชียงใหม่ 1 ให้ผลผลิตน้ำหนักสด 3,086.80 กรัมต่อต้น ผลผลิตสารกาแฟเฉลี่ย 567.60 กรัมต่อต้น สูงกว่าพันธุ์เชียงใหม่ 80 ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ย 540 กรัมต่อต้น รวมทั้งต้นกาแฟอะราบิกาพันธุ์ กวก.เชียงใหม่ 1 ยังให้ผลผลิตเต็มที่ในระยะเวลาที่สั้นกว่า จึงช่วยเพิ่มความคุ้มค่าและลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร

นอกจากนี้ กาแฟอะราบิกาพันธุ์ กวก.เชียงใหม่ 1ยังถูกพัฒนาให้มีเมล็ดกาแฟคุณภาพดี มีกลิ่นและรสชาติที่โดดเด่น ตรงกับความต้องการของตลาดกาแฟ  โดยให้ปริมาณสารกาแฟ เกรด A เฉลี่ย 81.92 เปอร์เซ็นต์  เมื่อปลูกที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ มีกลิ่นรส ดอกไม้ ถั่ว สมุนไพร  ปลูกที่ศูนย์วิจัยการพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย จะมีกลิ่นรส อัลมอนด์ เฮเซลนัท ช็อกโกแลต มะนาว จากผลการทดสอบคุณภาพการชิม โดยนำตัวอย่างไปทดสอบคุณภาพที่ Acaemia do Café, Lisboa ประเทศโปรตุเกส พบว่า กาแฟอะรา   บิกาพันธุ์ กวก.เชียงใหม่ 1  ได้คะแนนการประเมินของกาแฟ 76.75 คะแนน (จาก 100 คะแนน) มีรสชาติทิ้งทวนที่ยาวนานแม้รสเปรี้ยวเบาบางแต่มีรสสัมผัสที่นุ่ม

สำหรับกาแฟอะราบิกาพันธุ์ กวก.เชียงใหม่ 1 ได้รับการพัฒนาเพื่อให้เหมาะสมกับการปลูกในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่สูงในภาคเหนือที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 1,200 เมตรอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ระหว่าง 18-25 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1,500 มิลลิเมตรต่อปี  และมีข้อควรระวังคือกาแฟอะราบิกาไม่ทนต่อแสงแดดจัดหรือสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งโดยตรง

      ดังนั้นควรปลูกภายใต้สภาพร่มเงาของป่าธรรมชาติ หรือปลูกต้นไม้ร่วมแถว เช่น ซิลเวอร์โอ๊ค ถั่วหูช้าง หรือ มะคาเดเมีย เพื่อช่วยลดอุณหภูมิและป้องกันแสงแดดจัดความชุ่มชื้น โดยต้องรักษาระดับความชื้นในดินอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง เพื่อป้องกันการชะงักการเจริญเติบโตของพืช ปัจจุบัน สถาบันวิจัยพืชสวน มีแปลงผลิตเมล็ดและต้นกล้าพันธุ์ที่เสียบยอด และขยายพันธุ์แนะนำที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย และ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (แม่จอนหลวง) โดยในปี 2567 จะสามารถผลิตต้นพันธุ์ได้อย่างน้อย 25,000 ต้น  สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย โทรศัพท์ 053 602 751