กองทุน FTA เคาะงบฯกว่า 21 ล้าน ดันพัฒนาศักยภาพการผลิต-ตลาดโคเนื้อวากิวสุรินทร์ครบวงจร ป้อนตลาดภายใน- ตปท.รับมือผลกระทบ TAFTA

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                          อัญชนา ตราโช

กองทุน FTA เคาะงบฯกว่า 21 ล้านบาท ดันพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดโคเนื้อสุรินทร์วากิวครบวงจร หวังให้เป็นเนื้อโคที่ดีมีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ กำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 ปี เพื่อรับมือผลกระทบจากการสิ้นสุดมาตรการปกป้องพิเศษ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลียที่ผลตั้งแต่ต้นปีที่ผ่าสนมา

   นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) ได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 21.88 ล้านบาท ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดโคเนื้อสุรินทร์วากิวครบวงจรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้เกษตรกรของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคขุนสุรินทร์โกเบครบวงจร ตำบลสลักได อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์

     โดยมีกรมปศุสัตว์ เป็นผู้กำกับดูแล ระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 ปี (ตั้งแต่ ปี 2564 – 2573) โดยร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคขุนพันธุ์สุรินทร์วากิว ให้เป็นเนื้อโคที่ดีมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการอนุมัติงบประมาณดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบจากการสิ้นสุดมาตรการปกป้องพิเศษ (SSG) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย (TAFTA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นมา โดยกำหนดให้สินค้าเกษตร ที่นำเข้าจากออสเตรเลียจำนวน 17 รายการ เช่น เนื้อวัวและเครื่องใน เนื้อหมูและเครื่องใน ผลิตภัณฑ์จากเนยและนม เป็นต้น จะไม่มีภาษี ไม่จำกัดปริมาณการนำเข้าอีกต่อไป

     สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคขุนสุรินทร์โกเบครบวงจร ตำบลสลักได อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ นับเป็นกลุ่มวิสาหกิจที่ประกอบอาชีพเลี้ยงโคเนื้อสายพันธุ์วากิว ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ปัจจุบันมีสมาชิก 107 ราย จำนวนโคแม่พันธุ์ 2,079 ตัว แต่ผลผลิตของกลุ่มฯ ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ที่มีความต้องการประมาณเดือนละ 60 ตัว หรือ ปีละ 720 ตัว ขณะที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ผลิตได้เพียงเดือนละ 18 ตัว หรือปีละ 216 ตัว (คิดเป็นร้อยละ 30 ของตลาดที่มีอยู่)เท่านั้น

      ส่วนเป้าหมายของโครงการ คือ การผลิตลูกโคเพศผู้สำหรับขุนได้ ไม่น้อยกว่า 240 ตัว/ปี หรือ 2,400 ตัวตลอด ทั้งโครงการ ด้วยระบบการบริหารจัดการฟาร์มแบบคอกกลาง (Central Feedlot) มีการจัดอบรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรผู้เป็นสมาชิก ทั้งนี้ จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแล และควบคุมโดยกรมปศุสัตว์ ขณะที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะร่วมยกระดับการบริหารจัดการฟาร์มภายใต้แนวคิดการผลิตแบบคอกกลางที่มีศักยภาพ ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ 10 ปี เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์โครงการ และจะเป็นเนื้อโคขุนที่มีเกรดคุณภาพไขมันแทรกระดับ 2.5 ขึ้นไป จากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน GFM / GAP เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดระดับบน ซึ่งเป็นตลาดเนื้อโคขุนคุณภาพ นอกจากนี้ โครงการนี้ ยังได้จัดทำความตกลงด้านการตลาด (MOU) กับบริษัทคู่ค้าไว้แล้ว จำนวน 2 ฉบับ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรว่า มีตลาดรองรับผลผลิตอย่างแน่นอน

     “ที่ผ่านมา สินค้าโคเนื้อ นับเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากตลาดภายในประเทศอย่างมาก แต่กลับพบว่าปริมาณการผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะเนื้อโคคุณภาพระดับเกรดไขมันแทรกตั้งแต่ระดับ 2.5 ขึ้นไป ดังนั้น หากประเทศไทยสามารถผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพไขมันแทรกได้เอง เช่น โคเนื้อลูกผสมยุโรป ชาโรเร่ส์ แองกัส บราห์มัน หรือโคลูกผสมวากิว ที่เป็นโคสายพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น จะส่งผลให้ไทยสามารถลดการนำเข้าเนื้อโคจากต่างประเทศได้ ซึ่ง สศก. โดยกองทุน FTA เรามีความมุ่งมั่นและยินดีให้การสนับสนุนเงินทุน ให้คำปรึกษาแก่กลุ่มเกษตรกร สำหรับนำไปพัฒนาศักยภาพ ทั้งในด้านการผลิต การตลาด เพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ร่วมกันพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรไทย” รองเลขาธิการ สศก. กล่าว