กรมปศุสัตว์ตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เตรียมอาหารสัตว์ เร่งช่วยผู้ประสบน้ำท่วมชายแดนใต้

  •  
  •  
  •  
  •  


กรมปศุสัตว์ สั่งการทุกหน่วยในสังกัดพื้นที่ภาคใต้ให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยด้านปศุสัตว์ เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ทั้งเสบียงอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ยานพาหนะ ทีมสัตวแพทย์เคลื่อนที่ พร้อมแต่งตั้งชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว ออกปฏิบัติการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ได้ทันที

     นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ด้านปศุสัตว์ (ศปภ.ปศ.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการหน่วยงานในสังกัดทุกหน่วยงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์จากสถานการณ์เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชนและที่ทำกินของเกษตรกรในหลายจังหวัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่รวมถึงผลผลิตของสัตว์ของเกษตรกร

      ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ได้เตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือทุกด้าน ทั้งด้านเสบียงอาหารสัตว์ โดยมีเสบียงสัตว์แห้งสำรองกว่า 4,851 ตัน สำรองในพื้นที่ภาคใต้กว่า 682,400 กิโลกรัม พร้อมยานพาหนะ ทีมสัตวแพทย์และผู้ช่วย พร้อมเวชภัณฑ์ดูแลรักษาสัตว์ ตลอดจนชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว พร้อมออกปฏิบัติการทันทีที่ได้รับการร้องขอมา และนอกจากนี้ได้มอบหมายให้ปศุสัตว์เขต 9 จัดตั้งวอรูม (War Room) เพื่อติดตามสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด

      นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 64 กรมปศุสัตว์ได้รับรายงานว่า ด้านปศุสัตว์ได้รับผลกระทบในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 7 อำเภอ 411 ตำบล 157 หมู่บ้าน เกษตรกร 10,150 ราย สัตว์เลี้ยงได้รับผลกระทบ จำนวน 128,125 ตัว ได้แก่ โค 6,216 ตัว กระบือ 60 ตัว สุกร 21 ตัว แพะแกะ 9,728 ตัว และสัตว์ปีก 52,100 ตัว

      นอกจากนี้แปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์เสียหาย จำนวน 180 ไร่ เบื้องต้น ได้มอบหญ้าอาหารสัตว์ จำนวน 39,180 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังได้มอบถุงยังชีพสำหรับสัตว์ จำนวน 120 ถุง ในพื้นที่ จังหวัดยะลา และปัตตานี พร้อมดูแลรักษาสัตว์บาดเจ็บ 11 ตัว ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด/สำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ มีความพร้อม และสามารถเข้าให้ความช่วยเหลือ ดูแลสุขภาพสัตว์ บรรเทาความเดือดร้อน ลดความสูญเสียด้านปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงให้น้อยที่สุด

     สำหรับพี่น้องเกษตรกรที่ประสบปัญหาหรือได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติดังกล่าว สามารถติดต่อประสานขอความช่วยเหลือได้ตลอดเวลาจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และ ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ (ศปภ.ปศ.) กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร.02-6534444 ต่อ 3315 และ 3326 หรือติดต่อได้ที่ กรมปศุสัตว์ เลขที่ 6 9 / 1 ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ ฯ 10400 หรือทางอีเมล์ : disaster@dld.go.th หรือแจ้งข้อมูลผ่านทางแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด