สมาคมหมู มั่นใจส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ คนกินหมูพุ่งถึง 300% ย้ำไร้กังวลโรคตามฤดูกาล 

  •  
  •  
  •  
  •  

น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ชี้อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทยในช่วงปลายปีเช่นนี้มีแนวโน้มสดใส การบริโภคคึกคักที่มาจากปัจจัยท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงโครงการ “คนละครึ่ง” ทำให้มีการบริโภคอาหารจากเนื้อสุกรมากขึ้นถึง 100% จากช่วงก่อนหน้านี้ มั่นช่วงสิ้นปีและปีใหม่ที่อาจจะสูงถึง 300% ย้ำปัญหาโรคหมูตามฤดูกาลสามารถเอาอยู่ 

      น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทยในช่วงปลายปีเช่นนี้มีแนวโน้มสดใส จากภาวะการบริโภคที่คึกคักเป็นปัจจัยสนับสนุน ทั้งการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการในบางภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่นในภาคเหนือที่เข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ได้ผลดีมากอย่างเช่นโครงการ “คนละครึ่ง” ที่มีผู้ร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ยิ่งทำให้การบริโภคอาหารจากเนื้อสุกรมากขึ้นถึง 100% จากช่วงก่อนหน้านี้ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอีกในช่วงสิ้นปีและปีใหม่ที่อาจจะสูงถึง 300% ด้วยเหตุนี้ทำให้บางพื้นที่ต้องการผลผลิตหมูเพิ่ม เพื่อรองรับการบริโภคที่มากขึ้น สมาคมผู้เลี้ยงสุกรร่วมกับผู้เลี้ยง จึงร่วมกันบริหารจัดการด้วยการส่งชิ้นส่วนสุกรหรือสุกรแปรรูป จากภาคกลางไปเติมเต็มความต้องการดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลน

                                      Fresh raw pork chops sell in local fresh market in Thailand.

        ส่วนประเด็นเรื่องโรคในสุกรที่มีกระแสข่าวในช่วงนี้ อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงรอยต่อของฤดูกาลปลายฝนต้นหนาวของปี ที่ภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อสุขภาพสัตว์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นเรื่องที่คนในวงการหมูต่างรับทราบและเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว โดยได้เน้นย้ำเกษตรกรให้ดูแลสุขภาพสัตว์เป็นพิเศษ มีการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด ด้วยระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity system) ในระดับสูงสุด สำหรับฟาร์มที่พบปัญหาสุขภาพสัตว์ หรือต้องสงสัยว่ามีโรคระบาด ก็จะเข้าสู่มาตรการทําลายสัตว์ที่เป็นโรคระบาดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคระบาด ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ เพื่อขีดวงจำกัดไม่ให้แพร่กระจายไปยังฟาร์มอื่นๆ ตามมาตรการควบคุมโรคติดต่อในสัตว์ของภาครัฐ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยโรคที่มักพบและเป็นโรคตามฤดูกาลอยู่แล้ว อาทิ PRRS (เพิร์ส) และ APP ที่ติดต่อเฉพาะในสุกรไม่ติดต่อสู่คน ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ทำให้สามารถควบคุมโรคต่างๆ ไม่ให้กระทบกับอุตสาหกรรมสุกรได้

       “ผู้ผลิตสุกรและเกษตรกรต่างจับมือเหนียวแน่น ในการป้องกันโรคติดต่อในสุกร เน้นการจัดการฟาร์มตามหลักความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเข้มแข็ง ขณะเดียวกันยังคงบริหารจัดการผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศเป็นหลัก ส่วนการส่งออกมีคณะกรรมการดูแลอยู่ ทั้งกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทย และสมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก โดยมีการรายงานภาวะการส่งออกต่อ รมว.พาณิชย์ และรมว.เกษตรและสหกรณ์ ทุกๆ 15 วัน จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนสุกรภายในประเทศ ส่วนผู้เลี้ยงก็ไม่ต้องกังวลว่าปริมาณภายในจะเหลือจนส่งผลกระทบต่อภาวะราคา ขอให้มั่นใจและให้ความร่วมมือต่อเนื่อง รวมถึงอย่าตื่นตระหนกกับข่าวลือต่างๆ” น.สพ.วิวัฒน์ กล่าว./