โดย…รัชนีวรรณ สุขสำราญ นักวิชาการด้านปศุสัตว์
“แม้ว่าราคาไข่ไก่จะขยับขึ้นมา แต่ก็เพียงฟองละ 0.20 บาท หากแต่เกษตรกรไม่อาจผ่านพ้นวิกฤติไปได้ เพราะยังต้องแบกรับภาระต้นทุนราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาสูง โดยเฉพาะกากถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญ”
.ในที่สุดราคาไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ก็ได้ปรับขึ้นฟองละ 0.20 บาท มาอยู่ที่ 2.90 บาทต่อฟอง เป็นไปตามการประกาศของสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ อันเป็นผลจากความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรม PS Support ที่ภาครัฐ โดยกรมปศุสัตว์ รับฟังเสียงเกษตกรผู้เลี้ยง ที่ในช่วงที่ผ่านมาต้องประสบกับภาวะราคาตกต่ำ จากปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด
แผนกิจกรรมเพื่อสร้างเสถียรภาพราคาไข่ไก่ จึงถูกขับเคลื่อนให้เดินหน้าอย่างรวดเร็ว ด้วยการขอความร่วมมือผู้ประกอบการเลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ ที่มีปริมาณแม่ไก่ไข่ยืนกรงขนาด 1 แสนตัวขึ้นไป ร่วมกันควบคุมการปลดแม่ไก่แก่ จากเดิมที่ต้องปลดไก่ไข่ยืนกรงที่อายุ 80 สัปดาห์ ให้ขยับเวลาปลดเร็วขึ้นที่อายุ 75 สัปดาห์ ส่วนเกษตรกรรายเล็กลงมาก็ปลดแม่ไก่ตามระยะเวลาที่กำหนดปกติที่ 80 สัปดาห์ ทำให้ปริมาณแม่ไก่ไข่ลดลง ผลผลิตไข่เข้าสู่สมดุลกับปริมาณการบริโภค
ขณะเดียวกัน ทางการได้เร่งผลักดันกิจกรรมส่งออกไข่ไก่ ตามแผน PS Support โดยให้ผู้ผลิตลูกไก่ไข่ 16 ราย ร่วมกันส่งออกไข่ไปยังต่างประเทศ เพื่อระบายปริมาณไข่ไก่ส่วนที่เกินจากการบริโภคภายในประเทศ จำนวนรวม 200 ล้านฟอง จึงพบว่า จนถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไทยสามารถส่งออกไข่ไก่ไปแล้วถึง 330 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือ 107.34 ล้านฟอง
ไข่ไก่ที่ส่งออกนี้ถือเป็นการเสียสละของผู้ผลิตลูกไก่ไข่ทั้ง 16 ราย ที่ช่วยกันสร้างสมดุลระหว่างปริมาณผลผลิตและการบริโภค แม้จะต้องแบกรับภาระขาดทุนจากราคาไข่ไก่ส่งออกที่ฟองละ 1 บาท ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงตามข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พุ่งสูงขึ้นไปถึงฟองละ 2.55 บาทแล้วก็ตาม แต่ผู้ประกอบการทั้งหมดก็ยินดีช่วยกัน เพื่อประคับประคองอุตสาหกรรมไข่ไก่ทั้งประเทศให้เดินหน้าต่อได้ ไม่ให้เกษตรกรต้องล้มหายตายจากเพราะภาวะราคาตกต่ำ ให้ทุกคนก้าวผ่านวิกฤติไปด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาไข่ไก่จะขยับขึ้นมา แต่ก็เพียงฟองละ 0.20 บาท หากแต่เกษตรกรไม่อาจผ่านพ้นวิกฤติไปได้ เพราะยังต้องแบกรับภาระต้นทุนราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาสูง โดยเฉพาะกากถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญ โดยกากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้าราคาปรับเพิ่มขึ้น จากกิโลกรัมละ 15.85 บาทในสัปดาห์ก่อน เป็นกิโลกรัมละ 16.35 บาทในปัจจุบัน ส่วนราคาซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ของไทย ราคาอยู่ที่ 8.95 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงกว่าราคาในตลาดโลก แต่เกษตรกรก็จำต้องแบกรับภาระนี้เพื่อเดินหน้าอาชีพต่อไป
วันนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงทั้งประเทศต่างให้ความร่วมมือช่วยกันแก้ไขปัญหากันเอง ด้วยการปลดแม่ไก่แก่ยืนกรงตามกำหนดของภาครัฐ ควบคู่กับแผน PS Support ที่เร่งเดินหน้าต่อ เพื่อไม่ให้ผู้เลี้ยงทั้งประเทศประสบภาวะขาดทุนจนต้องเลิกอาชีพ ซึ่งจะกระทบกับอุตสาหกรรมการผลิตไข่ไก่ในภาพรวม
ขณะที่ผู้บริโภค สามารถช่วยสนับสนุนการแก้ปัญหาและร่วมสร้างเสถียรภาพราคาไขไก่ให้กับประเทศได้ ด้วยการบริโภคไข่ให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่การบริโภคไข่ของไทย ยังอยู่เพียง 221 ฟอง/คน/ปี ถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน อย่างเช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน ที่บริโภคเฉลี่ยสูงถึง 300 ฟอง/คน/ปี หรือมากกว่า
ฉะนั้นแค่เพียงบริโภคไข่ไก่คนละ 1 ฟองต่อวัน นอกจากจะช่วยกระตุ้นปริมาณการบริโภคของทั้งประเทศให้เพิ่มขึ้น และสามารถช่วยเกษตรกรได้เดินหน้าอาชีพต่อแล้ว ยังได้สุขภาพดีจากการบริโภคไข่ไก่ โปรตีนคุณภาพเยี่ยม ที่ราคาถูกที่สุด… วันนี้คุณทานไข่แล้วหรือยัง ?