23 ปี บทพิสูจน์ของการทำธุรกิจเกษตรในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา หรือ “คอนแทรคฟาร์ม” ของครอบครัว “สังข์นาค” เลี้ยงสุกร ในนามบริษัท สังข์นาค จำกัด ของ “ป้าจำปา สังข์นาค” วัย 63 ปีที่ตำบลชอนม่วง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี สามารถสร้างธุรกิจของครอบครัว สร้างชีวิตที่มั่นคง จากรุ่นสู่รุ่น จนวันนี้ได้สร้างทายาทรุ่นที่สองเป็นลูกชายคนโต “กฤษณะ สังข์นาค” เป็นผู้บริหาร เลี้ยงหมู 14 โรงเรีอนสร้างรายได้ปีละหลักสิบล้านบาท ปีหน้าตั้งเป้าขยายอีก 12 โรงเรือย
“ดีใจ…ที่ได้ทำอาชีพรับจ้างเลี้ยงสุกร เราเคยเป็นเกษตรกรชาวไร่มาก่อน รู้ดีว่าสภาพดินฟ้าอากาศมีผลกระทบต่อผลผลิตและราคา แต่อาชีพเลี้ยงสุกร ไม่ต้องกังวลเรื่องดินฟ้าอากาศ เป็นอาชีพที่มั่นคง สืบทอดไปให้กับรุ่นลูก รุ่นหลานได้ ” จำปา สังข์นาค ในวัย 63 ปี ประธาน บริษัท สังข์นาค จำกัด เล่าถึงความสำเร็จและความมั่นคงในชีวิต มีที่มาจากอาชีพรับจ้างเลี้ยงสุกรกว่า 23 ปี จนสามารถสร้างธุรกิจของครอบครัว คือ บริษัท สังข์นาค จำกัด เป็นบริษัทที่ดำเนินการเลี้ยงสุุกรขุน กับโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรขุน ลพบุรี โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรขุนแก่เกษตรกรรายย่อย(คอนแทรคฟาร์ม) ที่สนับสนุนโดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ
(จากซ้าย) กฤษณะ-ป้าจำปา -ลุงเพ็ญ สังข์นาค
ปัจจุบัน ทายาทรุ่นที่สองของ”ครอบครัวสังข์นาค” เข้ามาสืบต่ออาชีพจากรุ่นพ่อและแม่ คือ “กฤษณะ สังข์นาค” หรือ นะ ในวัย 44 ปี ลูกชายคนโตของ ป้าจำปา และ ลุงเพ็ญ สังข์นาค เป็นกำลังหลักช่วยบริหารจัดการในฟาร์ม ดูแลโรงเรือนเลี้ยงสุกรที่มีอยู่ทั้งหมด 14 หลัง ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลชอนม่วง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี มีจำนวนสุกรที่เลี้ยงรวม 10,000 ตัว
กฤษณะ เล่าว่า พื้นที่ของบ้านและฟาร์มซึ่งอยู่บริเวณเดียวกัน ทำให้เติบโตมาจากการได้เห็นพ่อและแม่มีอาชีพเลี้ยงสุกร และเค้าก็ไม่เคยคิดที่จะทำอาชีพอื่น เพราะเห็นแล้วว่าอาชีพเลี้ยงสุกรเป็นอาชีพที่มีรายได้ดี มั่นคง สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ ยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น มีซีพีเอฟคอยให้คำแนะนำ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงสุกรด้วยระบบที่ทันสมัย เช่น ระบบควบคุมอุณหภูมิ ระบบน้ำหยด ทำให้ปริมาณผลผลิตดีขึ้นเรื่อยๆ และซีพีเอฟยังเป็นตลาดรับผลผลิต ไม่ต้องกังวลเรื่องตลาดที่ราคาผันผวน
โรงเรือน 14 หลัง เลี้ยงสุกรขุนได้ปีละ 2 รุ่น มีรายได้รุ่นละประมาณ 5 ล้านบาท ทำให้ครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนหลักแสน และยังได้วางแผนไว้แล้วว่าในปี 2564 จะขยายโรงเรือนเลี้ยงสุกรอีก 12 หลัง แต่เนื่องจากพื้นที่สร้างโรงเรือนที่ ต.ชอนม่วง ค่อนข้างแน่น จึงมองพื้นที่สร้างโรงเรือนใหม่ ที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ จากตอนนี้ที่มีโรงเรือน 14 หลัง จ้างงานคนในชุมชนทำหน้าที่เลี้ยงสุกร 8 คน ถ้าขยายจำนวนโรงเลี้ยงสุกรไปยังจังหวัดใกล้เคียง ก็จะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนในจังหวัดใกล้เคียงได้ด้วย
นอกจากนี้ กฤษณะซึ่งเพิ่งได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ต.ชอนม่วง บอกด้วยว่า มีโอกาสใช้ประโยชน์จากการทำฟาร์มสุกรไปช่วยเหลือคนในพื้นที่และชุมชนได้มากขึ้น เช่น เมื่อก่อนมีเกษตรกรรอบฟาร์ม 1-2 รายที่ขอปันน้ำจากมูลสุกรที่บำบัดแล้วจากฟาร์มฯ ไปใช้รดไร่ ข้าวโพด ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง แต่หลังจากที่รับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านทำให้เข้าถึงชุมชนมากขึ้น ตอนนี้จึงมีเกษตรกรรอบฟาร์มที่ขอปันน้ำจากมูลสุกรของฟาร์มไปใช้เพิ่มเป็น 5-6 ราย
กฤษณะ ป้าจำปาและลุงเพ็ญ พาเดินชมพื้นที่บริเวณรอบๆฟาร์ม โชว์ไซโลใส่อาหารสัตว์หลังใหญ่ที่ถูกวางระบบให้อาหารแบบอัตโนมัติ และถึงแม้ว่ากฤษณะจะเป็นทายาทรุ่นที่สอง แต่สิ่งที่เค้าได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นพ่อและแม่ ย้ำหัวใจหลักที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการเลี้ยงสุกร คือ การมีระบบที่ดีในการป้องกันโรค
ป้าจำปา ฟังลูกชายเล่าด้วยความภาคภูมิใจ โดยเสริมว่า ต้องขอขอบคุณซีพีเอฟ ที่อยู่ด้วยกันมามากกว่า 20 ปี ช่วยเหลือเราทุกอย่าง ให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำ ทำให้ครอบครัวของเรามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี จากชีวิตเกษตรกรชาวไร่ ทำไร่ข้าวโพด เลี้ยงวัวนม ตั้งเเต่ปี 2524 รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย จึงไปทำไร่อ้อยเพิ่มขึ้นบนที่ดินของตัวเองและพื้นที่เช่ารวม 400ไร่ แต่ด้วยสภาพดินฟ้าอากาศ ที่กระทบผลผลิต ราคาที่ผันผวน รายได้ไม่เเน่นอน ก็ต้องมองหาอาชีพเสริมอีก คือ เลี้ยงไก่สามสาย เลี้ยงแกะ แต่ก็ต้องเลิกเลี้ยงเพราะขาดทุน
จนที่สุดเมื่อปี 2540 เริ่มสนใจอาชีพรับจ้างเลี้ยงสุกร จากคำแนะนำของป้าน้อย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านมาเล่าให้ฟังว่า ซีพีเอฟ มีโครงการส่งเสริมฝากเลี้ยงสุกรขุน ในเขตอ.บ้านหมี่ จึงตัดสินใจโทรศัพท์หาเจ้าหน้าที่ของซีพีเอฟให้เข้ามาดูพื้นที่ ตอนเริ่มต้นก็ยังติดปัญหาเรื่องเงินลงทุน ต้องหาเงินเพิ่มจึงตัดสินขายที่ดิน มีเงินลงทุน 280,000 บาท ทำโรงเรือนเลี้ยงสุกรรายแรกในอ.บ้านหมี่ และเลี้ยงสุกรหลังแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2540 หลังจากเริ่มเลี้ยงได้สามเดือนเศษ ได้รับเงินงวดเเรกจากการเลี้ยงสุกรประมาณ 60,000บาท ตื่นเต้นกันใหญ่ ยังคุยกับลุงเพ็ญว่า “เรามาถูกทางแล้ว เคยทำอย่างอื่นมา ยังไม่มีโอกาสจับเงินก้อนแบบนี้เลย” เก็บสะสมเงินระยะหนึ่ง ตัดสินใจสร้างโรงเรือนหลังที่สอง ในปี 2541 และหลังที่สามตามมา ในปี 2542 พร้อมกับเลิกทำไร่อ้อยในพื้นที่เช่า
ป้าจำปา ยังได้เล่าให้ฟังถึง ความยากในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในช่วงนั้นว่า ค่อนข้างยาก แต่จากอาชีพรับจ้างเลี้ยงสุกรที่มีรายได้สม่ำเสมอ ทำให้ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน 1.5 ล้านบาท เมื่อปี 2547 นำมาสร้างโรงเรือนหลังที่สี่ พร้อมกับลงทุนพัฒนาระบบไบโอแก๊ส เพื่อดูแลสิ่งเเวดล้อมในฟาร์มและรอบฟาร์ม เเละผลิตไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม รายได้จากอาชีพเลี้ยงสุกรช่วยปลดหนี้ที่เคยคั่งค้างจากการประกอบอาชีพอื่นๆ ได้หมด เดินหน้าสร้างโรงเรือนเลี้ยงสุกรอย่างต่อเนื่อง ปี 2559 ขยายโรงเรือนเพิ่ม 2 หลัง ปี 2560 เพิ่มอีก 2 หลัง และปี 2562 เพิ่มอีก 6 หลัง รวม 14 โรงเรือน และลงทุนพัฒนาระบบไบโอแก๊ส 5 แห่ง เพื่อดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมของฟาร์มและชุมชน
ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการคอนแทร็ค ฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) มาตั้งแต่ปี 2518 เข้าสู่ปีที่ 45 มีจำนวนเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ทั้งในรูปแบบการประกันรายได้ในโครงการฝากเลี้ยงและรูปแบบประกันราคารวมกว่า 5,000 ราย และจากการประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจของโครงการฯ ยังพบว่าสามารถลดสัดส่วนเกษตรกรที่มีค่าครองชีพต่ำกว่าเส้นความยากจนลงจาก 40% เหลือ 0% ในด้านสังคมเกษตรกรมีความสามารถส่งบุตรหลานให้ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีเวลาว่างอยู่กับลูกและครอบครัวมากขึ้น และในด้านของสิ่งแวดล้อม พบว่าช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นผลจากการที่ฟาร์มสุกรทำระบบไบโอแก๊ส ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายของซีพีเอฟ มุ่งมั่นเป็นองค์กรที่มีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร่วมบรรเทาภาวะโลกร้อนและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ