มกอช. เดินสายติวเข้มเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดภาคอีสาน รองรับการส่งออก

  •  
  •  
  •  
  •  
มกอช. เดินสายจัดอบรมให้ความรู้เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดภาคอีสาน ระยะที่ 2 เร่งยกระดับสู่ฟาร์มจิ้งหรีด GAP รองรับตลาดส่งออกในอนาคต
      ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาความพร้อมเข้าสู่ระบบการผลิตและรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด ภายใต้นโยบายการเกษตรแบบแปลงใหญ่ให้แก่เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีด ระยะที่ 2 โดยจัดอบรมให้ความรู้เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีด ในพื้นที่แปลงใหญ่จิ้งหรีดภาคอีสาน 290 คน ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2563 จำนวน 5 ครั้งได้แก่
       ครั้งที่ 1 วันที่ 31 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 2 วันที่ 1 กันยายน 2563 ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตำบลบ้านหัน อำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 3 วันที่ 2 กันยายน 2563 ณ อาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนไตรคามราษฎร์บำรุง ตำบลหนองแวงโสกพระ อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 4 วันที่ 3 กันยายน 2563 ณ วัดป่ากู่แก้ว อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และครั้งที่ 5 วันที่ 4 กันยายน 2563 ณ ศาลาประชาคมหมู่บ้านประดู่ ตำบลห้วยสำราญ อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์
       ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายพิทักษ์ ชายสม นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มมาตรฐานสุขอนามัยสัตว์ ผู้แทนจากสำนักกำหนดมาตรฐาน และกองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร มกอช. ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด ขั้นตอนการยื่นขอการรับรองตามมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานประจำฟาร์ม และการจดบันทึกข้อมูลในแบบฟอร์มในการบันทึกข้อมูลผลการปฏิบัติงานในขั้นตอนที่สำคัญในการจัดการฟาร์ม รวมทั้งข้อมูลแนวโน้มการส่งออกผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีดของประเทศไทยไปยังตลาดต่างประเทศ
      “ภายหลังเสร็จสิ้นการจัดอบรม มกอช. จะดำเนินการคัดเลือกเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดกลุ่มเป้าหมายร่วมกับเกษตรอำเภอในแต่ละพื้นที่ และติดตามเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายในการนำข้อกำหนดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด ไปปฏิบัติใช้ต่อไป เพื่อให้เกษตรกรมีความพร้อมในการยื่นขอการตรวจรับรองฟาร์มมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ต่อไป”เลขาธิการ มกอช. กล่าว