ผลพิสูจน์ชัดเจนจากอังกฤษ ม้าตายที่โคราชเป็น “กาฬโรคแอฟริกาในม้า” เตรียมหารือฉีดวัคซีนป้องกันด่วน 

  •  
  •  
  •  
  •  

อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยผลตรวจเชื้อในม้าที่ป่วยและในพื้นที่ จงนครราชสีมา จากห้องปฏิบัติการในประเทศอังกฤษ ยืนยันชัดเจนเป็น “โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า” หรือ ASH  เตรียมหารือผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วนพิจารณา ใช้วัคซีนป้องกันกันด่วน ชี้เป็นเป็นโรคระบาดร้ายแรงที่อุบัติใหม่ แต่มีวัคซีนป้อง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

     นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากการส่งตัวอย่างเลือดของม้าป่วยและตายในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ไปตรวจวินิจฉัยที่ห้องปฏิบัติการประเทศอังกฤษ ล่าสุดได้รับผลยืนยันตรงกับสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ว่า เป็นโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness : ASH) เป็นสายพันธุ์ (serotype) 1 ขณะนี้กำลังเตรียมหารือกับผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วนเกี่ยวกับการใช้วัคซีนป้องกันโรคโดยด่วนที่สุด

      ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีชื่นชม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กรมปศุสัตว์สามารถควบคุมโรคนี้ให้อยู่ในวงจำกัดได้อย่างรวดเร็ว แม้จะเป็นโรคอุบัติใหม่ โดยนายเฉลิมชัย ได้กำชับให้ดำเนินมาตรการยับยั้งการระบาดอย่างเคร่งครัด เนื่องจากโรค ASH เป็นโรคที่รุนแรง แต่มีวัคซีนป้องกัน ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น (live attenuated vaccine) ปัจจุบันมีการผลิตและใช้เฉพาะในประเทศที่พบการระบาดบ่อยๆ เท่านั้น ได้แก่ ในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง อียิปต์ สเปน โปรตุเกส โมร็อกโค ปากีสถาน และอินเดีย

       อย่างไรหากเห็นสมควรจะใช้ในไทยจะต้องนำเข้าซึ่งต้องกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้ที่ชัดเจน  อีกทั้ง จัดระบบการใช้วัคซีนอย่างเข้มงวดด้วยการฝังไมโครชิปเพื่อให้ทราบว่า ม้าตัวไหนได้รับวัคซีนแล้ว เป็นวิธีที่จะช่วยให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้กรมปศุสัตว์จะประชุมหารือกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) เพื่อพิจารณาการใช้วัคซีนสำหรับการควบคุมโรค ASH ในไทยให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยด่วนต่อไป

     อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคม้า ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบการป่วยตายของม้ามากที่สุด รายงานสถานการณ์ของโรคที่ขณะนี้ อัตราการป่วยและตายของม้าลดลงมากกว่าร้อยละ 50 โดยจำนวนม้าตายจากวันละ 20 เหลือ 3-5 ตัวต่อวัน ส่วนม้าป่วยจากเดิมวันละประมาณ 20 ตัว ขณะนี้เหลือ 10 ตัวต่อวัน เนื่องจากติดเชื้อมาก่อนหน้า แล้วแสดงอาการ

     ขณะนี้กรมปศุสัตว์ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจเยี่ยมผู้เลี้ยงม้าในรัศมี 20 กิโลเมตรของจุดเกิดโรค เพื่อเฝ้าระวังโรคและพ่นยาฆ่าเชื้อทำลายเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ เร่งรัดให้เจ้าของคอกจัดทำมุ้งเพื่อป้องกันแมลง ตลอดจนการใช้ยาป้องกันและกำจัดแมลง สำหรับที่อำเภอปากช่องมีคอกม้าที่ไม่มีม้าป่วยหรือตายแล้วระยะเวลามากกว่า 7 วัน รวม 6 คอก ซึ่งจะวิเคราะห์ว่า มีการดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคอย่างไรเพื่อนำไปถ่ายทอดเป็นตัวอย่างให้กับคอกม้ารายอื่นที่ยังมีม้าป่วยตายอยู่ใช้เป็นแนวทางในการป้องกันและควบคุมโรค