กรมปศุสัตว์ ยืนยันม้าตายจำนวนมากที่โคราชเป็น”กาฬโรคในม้า”ไม่เกี่ยว “โควิด-19”

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมปศุสัตว์ ยืนยันแล้ว ม้าที่ตายจำนวนมากที่โคราชเกิดจากโรค “กาฬโรคในม้า” ไม่เกี่ยวการแพร่ระบาดของ”โควิด-19″ ไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน  ล่าสุดสั่งตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคม้าในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาอย่างเร่งด่วน พร้อมตั้งด่านควบคุมห้ามการเคลื่อนย้ายม้าเข้าและออกพื้นที่เด็ดขาดในรัศมี 150 กิโลเมตร

     นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ได้รับแจ้งจากผู้เลี้ยงม้าที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อช่วงเย็นวันที่ 25 มีนาคม 2563 ว่า มีม้าที่เลี้ยงเกิดล้มป่วย และตาย จึงได้ส่งชุดปฏิบัติการสอบสวนและควบคุมโรค ลงพื้นที่ตรวจสอบโดยเร่งด่วน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 พร้อมทั้งสั่งการด่วน ให้เฝ้าระวังโรคในม้าทั่วประเทศ

   จากการลงพื้นที่สอบสวนโรค พบว่า มีม้าป่วยจำนวน 11 คอก โดยม้าป่วยแสดงอาการมีไข้สูงมากกว่า 39 °C ซึม ไม่กินอาหาร มีน้ำมูก น้ำตาไหล หายใจลำบากหอบถี่ มีจุดเลือดออกบริเวณเยื่อบุตา เหงือกซีดและเหลือง ร่างกายอ่อนแรง หน้าบวม ตายเฉียบพลัน และได้เก็บตัวอย่างสัตว์ป่วยส่งตรวจวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการ จากข้อมูลทางระบาดวิทยาอาการทางคลินิก และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ จากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ว่า เป็นโรคกาฬโรคในม้า (African Horse Sickness)

   ทางกรมปศุสัตว์ ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรค ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยการบันทึกสั่งกักสัตว์ป่วยทุกคอกพร้อมทั้งแยกม้าที่ป่วยจากม้าร่วมฝูง และสั่งตั้งด่านควบคุมการเคลื่อนย้าย โดยระงับการเคลื่อนย้ายม้าเข้าและออกพื้นที่โดยเด็ดขาดในรัศมี 150 กิโลเมตร รวมทั้งให้คำแนะนำการป้องกันโรค ได้แก่ ป้องกันแมลงพาหะดูดเลือดโดยติดตั้งมุ้ง และทำลายมูลม้า แหล่งเพาะพันธุ์แมลง กำจัดแมลงดูดเลือด ทำลายเชื้อโรคยานพาหนะที่เข้าและออกฟาร์ม หลีกเลี่ยงการนำม้าไปอาบน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะ หรือนำน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะมาเลี้ยงม้า ไม่นำม้าจากที่อื่นเข้ามาเลี้ยงใหม่ในฟาร์ม แยกคนเลี้ยงและอุปกรณ์ต่างๆ ระหว่างม้าป่วยและม้าร่วมฝูง และทำลายเชื้อโรค

     นอกจากนี้ ได้มีการประสานสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย สมาคมขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาม้าแข่ง และเครือข่ายผู้เลี้ยงม้าทั่วประเทศ ช่วยประชาสัมพันธ์ เตือนภัย การรับแจ้งโรค รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคในฟาร์ม เน้นย้ำให้เจ้าของ หมั่นสังเกตอาการม้าที่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด หากพบม้าแสดงอาการผิดปกติให้รีบแจ้งสัตวแพทย์ที่ปรึกษาฟาร์ม และ แจ้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-2256888 และแอปพลิเคชัน DLD4.0 เพื่อดำเนินการตรวจสอบและควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน และขอยืนยันว่า สถานการณ์การระบาดของโรคในม้าที่เกิดขึ้น ไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน และไม่ใช่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 แต่อย่างใด