กรมปศุสัตว์ส่งหน่วยปราบปรามจาก ส่งชุดฉก.พญาไทบุกจับโรงฆ่าสัตว์เถื่อนในพื้นที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ยึดซากโคที่กำลังชำแหละ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการฆ่าสัตว์ ชี้มีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 ที่สำคัญเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรค ส่งผลต่อสุขภาพ อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคถึงแก่ชีวิตได้
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสผ่านระบบ DLD 4.0 ว่ามีการตั้งโรงฆ่าสัตว์ผิดกฎหมายในพื้นที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นการทำผิดกฎหมายในความรับผิดชอบของกรมปศุสัตว์ จึงได้สั่งการให้หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไทจัดทีมเข้าตรวจสอบโดยด่วน ซึ่งเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท เจ้าหน้าที่สารวัตรจากสำนักงานปศุสัตว์เขต7 ด่านกักกันสัตว์จากนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีภูธรบ้านโป่ง และปลัดอำเภอบ้านโป่ง รวมกว่า 30 นาย ได้ร่วมเข้าตรวจค้นโรงฆ่าโค ในพื้นที่จำนวน 4 แห่ง ผลการตรวจสอบพบการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559
กรมปศุสัตว์จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาพร้อมควบคุมตัวผู้กระทำความผิด ของกลาง และอุปกรณ์ที่ใช้ในการฆ่าสัตว์ นำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจในพื้นที่เพื่อดำเนินคดีตาม พรบ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 คือ ข้อหาที่ 1 ประกอบกิจการฆ่าสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 15 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อหาที่ 2 ฆ่าสัตว์โดยไม่แจ้งการฆ่าต่อพนักงานท้องถิ่น ตามมาตรา 31 มีโทษปรับตามรายตัว โคตัวละไม่เกิน 5 หมื่นบาท และข้อหาที่ 3 ฆ่าสัตว์นอกโรงฆ่าสัตว์ ตามมาตรา 39 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ด่านกักกันสัตว์นครปฐมได้ดำเนินการทำลายซากโคของกลาง ที่ได้รับมอบมาทั้งหมด โดยวิธีการฝังกลบปฏิบัติตามระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการดำเนินการกับสัตว์หรือซากสัตว์ของกลางที่เป็นพาหะของโรคระบาดซึ่งถูกยึดหรืออายัดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์หรือตามกฎหมายอื่น พ.ศ. 2558
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ดำเนินการทางกฎหมายแก่ผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์มาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2558 มีผลการจับกุมโรงฆ่าเถื่อนแล้วกว่า 500 ราย นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับอนุญาตไปแล้วอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้งว่าได้ดำเนินการตามพรบ.ควบคุมการฆ่าสัตว์ฯ กำหนดหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ยกเลิกและพักใช้ใบอนุญาตฯ โรงฆ่าสัตว์ที่ไม่ปฏิบัติตามกฏหมาย ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานโรงฆ่าสัตว์ไทย เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ยังคงเข้มงวดในการปราบปรามโรงฆ่าเถื่อน หากประชาชนพบเห็นโรงฆ่าเถื่อนหรือการกระทำที่ผิดกฎหมาย โปรดแจ้งเบาะแสได้ที่ application “DLD 4.0” เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ดำเนินการเข้าตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป