ระดมมันสมองถก FTA โคนม-โคเนื้อไทย-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ “ประพัฒน์”ชี้เกษตรกรรายย่อยตายแน่

  •  
  •  
  •  
  •  

สภาเกษตรกรฯ ระดมมันสมองเครือข่าวผู้เลี้ยงนม-โคเนื้อ  ถกรับมือไทยเปิดการค้าเสรีสินค้านม-โคเนื้อ ตามข้อตกลง FTA กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่จะมีผลต้นปีหน้า เพื่อทำข้อสรุปผลประทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรไทยก่อนเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลพิจารณา หามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ “ประพัฒน์” ชี้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอ่วมแน่และอาจจะเลิกอาชีพ เนื่องจากทั้งสองประเทศมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการเลี้ยงโคนมที่ทันสมัยมายาวนาน ทำให้ต้นการผลิตต่ำกว่าของไทยมาก แนะให้นำกองทุน FTA ออกจากการดูแลของหนย่วยงานรัฐ ให้บริหารในรูปแบบของคณะกรรมการ ระบุที่ผ่านเกษตรกรเข้าไม่แหล่งเงินทุนส่วนนี้ที่มีขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก 

    เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563  นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา “โครงการรับฟังความคิดเห็นเตรียมความพร้อมเปิดเสรีสินค้าโคนม และโคเนื้อของไทย (FTA)” เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อข้อตกลงเขตการค้าเสรีสินค้า โคนมและโคเนื้อของไทยกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบกับการเปิดเสรีการค้าในครั้งนี้ โดยมี รศ.ดร.เยาวมาลย์ ค้าเจริญ ประธานกรรมการด้านปศุสัตว์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวรายงาน ซึ่งมีคณะกรรมการด้านปศุสัตว์ สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการ ภาคประชาชน และเกษตรกรเกี่ยวข้อง เข้าร่วมสัมมนากว่า 200 ราย ณ ห้องประชุมห้อง Ballroom C โรงแรมมารวย การ์เด้น ถ.พหลโยธิน กรุงเทพฯ

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

       นายประพัฒน์ กล่าวว่า จากภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA)ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ไทย มีกำหนดต้องเปิดตลาดโดยลดภาษีเหลือ 0% ในสินค้าหางนมเวย์ เนย ไขมันเนย เนยแข็ง และโคเนื้อ ในวันที่ 1 มกราคม 2564 และในสินค้านมและครีม เครื่องดื่มประเภทนมปรุงแต่งและนมผงขาดมันเนย ในวันที่ 1 มกราคม 2568 จากการพิจารณาข้อตกลงดังกล่าว จะพบว่า อุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดเจนได้แก่อุตสาหกรรมโคนม-โคเนื้อ ภาคการผลิตต้นน้ำของอุตสาหกรรมนมไทยจะได้รับผลกระทบจากการ เปิดเสรีอย่างมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมโคนมของออสเตรเลียเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีจำนวนโคประมาณ 3 ล้านตัว ผลิตน้ำนมได้ 10,326 ล้านตัน มีประสิทธิภาพในการผลิตสูง ในขณะที่ไทยมีโคนม จำนวน 441,487 ตัว ผลิตน้ำนมได้ 726,963 ตัน มีราคาน้ำนมดิบในประเทศสูงไม่สามารถแข่งขันกับราคาผลิตภัณฑ์นมที่นำเข้า จากต่างประเทศ

        ทั้งนี้ ในข้อตกลงออสเตรเลียได้ขอให้ไทยเพิ่มการนำเข้านมผงเพิ่มขึ้นอีก 20% (70,000-80,000 ตันต่อปี) ซึ่งจะส่งผลกับเกษตรกรทำให้ขายน้ำนมดิบยากขึ้น เพราะผู้ผลิตภายในประเทศจะหันไปใช้นมผงที่นำเข้าจากต่างประเทศมาใช้แทน น้ำนมดิบในประเทศพบกับภาวะล้นตลาดได้ ในภาวะตลาดโลกโดยทั่วไปราคาน้ำนมดิบ 12.50 บาท และภายใต้สถานการในปัจจุบันของระบบอุตสาหกรรมนมไทย ให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะนำเข้านมผงจากต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากนมผงมีข้อดีของผู้แปรรูปทั้งในด้านคุณภาพและสะดวกสบาย จึงอาจทำให้การเปิดการค้าเสรีอาจทำให้การนำเข้านมเข้ามาแทนที่ การผลิตน้ำนมดิบในประเทศ

    “การเปิดเสรีการค้าโคเนื้อตามข้อตกลง FTA ไทย-ออสเตรเลียส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ ของไทยต้องปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากคุณภาพยังสู้ต่างประเทศไม่ได้ ขณะที่ต้นทุนการผลิตยังสูง ภาคการผลิต โคเนื้อคาดว่าจะได้รับผลกระทบในด้าน การลดการผลิต เลิกการผลิต ดุลการค้าลดลง ราคาภายในประเทศลดลง มีการว่างงานเพิ่มขึ้นประการใดประการหนึ่ง หรือหลายประการเช่นกันโดยสินค้าที่สำคัญที่ไทยนำเข้า คือ เนื้อโค กระบือ ไม่มีกระดูกแช่แข็ง เนื้อโค กระบือ ไม่มีกระดูกสดหรือแช่เย็น ซึ่งปัจจุบันไทยเก็บภาษี นำเข้าร้อยละ 50 หากลดภาษีเหลือ 0 จะทำให้สินค้าดังกล่าวราคาถูกลง นำเข้ามากขึ้นและจะมีเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบจำนวนประมาณ 1.4 ล้านครัวเรือน”นายประพัฒน์ กล่าว

    ประธานสภาเกษตรกรฯ กล่าวต่อไปว่า ทางออก เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องปรับตัวโดยเฉพาะการพัฒนาสายพันธุ์ให้ได้เนื้อโคที่มีคุณภาพสามารถแข่งขัน แนวทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมนี้ให้อยู่รอดในภาวะที่ต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นๆ จึงสำคัญที่สุดที่รัฐบาลจะต้องเร่งให้มีมาตรการในการช่วยเหลือที่จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ ต่อเกษตรกร และในอีก 15-20 ปี ข้างหน้า อย่างไรก็ตาม เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบกับการเปิดเสรีการค้านมและโคเนื้อ ได้แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาในกรณีดังกล่าว สภาเกษตรกรแห่งชาติ จึงได้จัดทำโครงการรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบที่มีต่อเกษตรกรต่อไป