“ประภัตร”ลั่นฆ้อง ดัน”ขอนแก่นโมเดล”ต้นแบบโคเนื้อสร้างชาติ 20 จังหวัดอีสาน มอบของขวัญปีใหม่

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตร เนรมิต “โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคขุนสร้างรายได้”  ที่ขอนแก่น เน้นการเลี้ยงโระยะสั้นไม่เกิน 4 เดือน สามารถสร้างรายได้เสริม และได้ปุ๋ยมูลสัตว์ใช้ในการเพาะปลูก “ประภัตร” ลั่นฆ้อง! มอบของขวัญปีใหม่ชาวอิสาน ลุยคิกออฟ  “โคเนื้อสร้างชาติ” พร้อมดัน “ขอนแก่นโมเดล”  เป็นต้นแบบให้อีก 20 จังหวัดในภาคอิสาน พร้อมหนุนสินเชื่อ 33 ล้านบาท ขณะที่ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคขุนระยะสั้น เป้า 40,000 รายทั่วประเทศ

     เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562) นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน การขับเคลื่อนโครงการภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง “ขอนแก่นโมเดล” ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีนครขอนแก่น ต.บ้านทุ่ม อ.เมือง จ.ขอนแก่น ช่วงบ่ายเดินทางไปมอบปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากพายุโพดุล ณ วิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น โดยมี ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายจิรวัฒน์ โลหะ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จังหวัดขอนแก่น คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยฯ หัวหน้าส่วนราชการ ให้การต้อนรับ และมีเกษตรกรเข้าร่วมรวมกว่า 2,000 คน

                                                                                     ประภัตร โพธสุธน

     นายประภัตร กล่าวว่า รัฐบาลได้ตระหนักและมีความเป็นห่วงเกษตรกร และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ทั้งอุทกภัยและภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากในหลายพื้นที่ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรได้ตามปกติ ผลผลิตได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบด้านราคา อีกทั้งเกษตรกรรายย่อยมักขาดโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ในการฟื้นฟูหรือปรับเปลี่ยนอาชีพ รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน ให้สามารถประกอบอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จึงได้จัดทำโครงการภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมปศุสัตว์ กับ ธ.ก.ส. ไปแล้ว วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคปศุสัตว์ไทย ฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกร บรรเทาความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ และผลกระทบจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดการตลาดผลิตผลการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ และเพื่อเป็นการสร้างอาชีพทางเลือกใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมมาเลี้ยงสัตว์จำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ ได้แก่ โคเนื้อ กระบือ แพะแกะ และไก่พื้นเมือง รวมถึงกิจการที่เกี่ยวเนื่อง

        สำหรับจังหวัดขอนแก่น มีเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อ จำนวน 28,774 ราย มีโคเนื้อรวม 162,863 ตัว ตลอดจนเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในด้านการเลี้ยงโคเนื้อ และเป็นศูนย์กลางในภาคอิสาน จึงมองเห็นโอกาสที่จะช่วยฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกรที่ประสบภัยในช่วงที่ผ่านมา จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ ภายใต้ชื่อ “โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคขุนสร้างรายได้ ภายใต้โครงการโคเนื้อสร้างชาติ” ด้วยการเลี้ยงโคขุนระยะสั้นไม่เกิน 4 เดือน ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรในการยังชีพ และผลิตปุ๋ยมูลสัตว์ใช้ในการเพาะปลูก เพื่อลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคขุนระยะสั้น ตลอดจนพัฒนาศักยภาพคอกกลางรวบรวมโคขุน และคอกกักเพื่อการส่งออกให้กับสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน จำนวน 40,000 รายในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเกษตรกรต้องจัดหาซื้อโคตามคุณลักษณะที่กรมปศุสัตว์กำหนด คือโคเนื้อเพศผู้ จำนวน 5 ตัว อายุระหว่าง 1 ปีครึ่ง – 2 ปี น้ำหนักเฉลี่ย 250 กก. พร้อมกันนี้รัฐสนับสนุนค่าอาหารสัตว์ (TMR) สนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย ตลอดจนและสนับสนุนบ่อบาดาลเพื่อการเกษตร อีกด้วย

        นายประภัตร กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน จ.ขอนแก่น ถือว่ามีความพร้อมทั้งในด้านพื้นที่ จึงได้เริ่มขับเคลื่อน ‘ขอนแก่นโมเดล’ เพื่อเป็นต้นแบบให้อีก 20 จังหวัดในภาคอิสาน และเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้พี่น้องเกษตรกร โดยภายในงานมีการจัดประชุมชี้แจงให้กับเกษตรกร และผู้ที่สนใจในอาชีพปศุสัตว์เข้าร่วมรับฟัง จาก 15 อำเภอ ใน จ.ขอนแก่น รวม 1,000 คน ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีนครขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น และจาก 11 อำเภอ ใน จ.ขอนแก่น รวม 1,000 คน ณ วิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ทั้งนี้ จังหวัดขอนแก่นได้ดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่องไปเบื้องต้นแล้ว มีกลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสหกรณ์สนใจขอเข้าร่วมโครงการจำนวน 149 กลุ่ม จำนวนเกษตรกร 1,487 คน ปัจจุบัน ธ.ก.ส. ได้อนุมัติเงินงบประมาณให้กับเกษตรกรและแปลงใหญ่โคเนื้อ จำนวน 3 กลุ่ม เป็นเงิน 25.57 ล้านบาท โครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย (XYZ) จำนวน 4 กลุ่ม เป็นเงิน 7.44 ล้านบาท รวม 33 ล้านบาท และยังมีเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการอีกจำนวนมาก โดยได้มอบป้ายสนับสนุนเงินเพื่อผลักดันโครงการให้เกิดขึ้นอย่างมีศักยภาพ” นายประภัตร กล่าว

        นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง รายละเอียด ดังนี้ 1) โครงการส่งเสริมการผลิตโคเนื้อ กิจกรรมการเลี้ยงโคขุนจำนวน 40,000 รายๆ ละ 5 ตัว รวมโคขุนอย่างน้อย 200,000 ตัว สร้างหรือพัฒนาคอกกลางรวบรวมโคขุน 200 แห่ง (สัดส่วนประมาณ 500/คอก) ในพื้นที่ทั่วประเทศ และคอกกักเพื่อการส่งออก จำนวน 20 แห่ง (รองรับโคขุนประมาณ 1,000 ตัว/คอก) ในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ หรือพื้นที่ที่มีศักยภาพให้กับเกษตรกร 2) โครงการส่งเสริมการผลิตกระบือ เกษตรกรเป้าหมาย 4,000 รายๆ ละ 5 ตัว รวม 20,000 ตัว 3) โครงการส่งเสริมการผลิตแพะเนื้อ เกษตรกรเป้าหมาย 1,000 รายๆ ละ 21 ตัว รวม 21,000 ตัว 4) โครงการการส่งเสริมการผลิตไก่พื้นเมือง เกษตรกรเป้าหมาย 294 ราย ผลิตไก่พื้นเมืองขุน 264,000 ตัว/ปี และ 5) กิจการที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทั่วประเทศตามศักยภาพและแผนธุรกิจที่มีความชัดเจน ได้แก่ ธุรกิจศูนย์ผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) การผลิตพืชอาหารสัตว์ การผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ ธุรกิจการส่งขนและการกระจายสินค้า (Logistics) เป็นต้น

           ในส่วนของคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน มีความพร้อมในการจัดเตรียมโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่างเหมาะสม จัดหาอาหารสัตว์ให้กินอย่างเพียงพอตลอดระยะเวลาการเลี้ยงเพื่อให้สัตว์มีการเจริญเติบโตเต็มที่อย่างมีศักยภาพ ผู้เข้าร่วมโครงการต้องดำเนินการจัดซื้อจัดหาพันธุ์สัตว์และปัจจัยการผลิตตามโครงการด้วยตนเอง นอกจากนี้ ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อไม่เกิน 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 100 บาท/ปี กลุ่มละไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยเป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละโครงการ ส่วนเกษตรกรที่เป็นหนี้ NPL นั้นสามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยติดต่อที่ ธกส. เพื่อให้ความช่วยเหลือในการแบ่งผ่อนตามระเบียบต่อไป

       “ขณะนี้ได้ประชุมทำความเข้าใจกับปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศไปแล้ว เพื่อสำรวจความต้องการกลุ่มที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ รมช.เกษตรฯ ยังได้มอบนโยบายให้ทดลองเลี้ยงโคเนื้อ ที่ จ.สุพรรณบุรี ใช้เวลาเลี้ยง 117 วัน มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง 200 กก. ซึ่งสามารถขายได้ กก.ละ 100 บาท จึงมั่นใจว่าหากเกษตรกรมีความตั้งใจและปฏิบัติอย่างถูกต้องจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการเลี้ยงสัตว์อื่นๆ อาทิ แพะ ไก่พื้นเมือง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ และ รมช.เกษตรฯ ได้เน้นย้ำให้ส่งเสริมผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเพิ่มจำนวนหมูเพื่อส่งออกไปจีน เนื่องจากขณะนี้ไทยเป็นประเทศที่ปลอดโรคอหิวาห์ทำให้ต่างประเทศมั่นใจในความปลอดภัย” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว