“มนัญญา” มุ่งมั่นสานต่ออาชีพพระราชทานเลี้ยงโคนม หวังให้เยาวชนรุ่นใหม่และบุตรหลานเกษตรกรกลับมาให้ความสนใจการทำการเกษตรเพิ่มมากขึ้น พร้อมมอบนโยบายสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ และพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายการดำเนินงานให้กับผู้บริหาร พนักงาน อ.ส.ค. และเกษตรกร/สหกรณ์โคนม ณ สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนบน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ว่า อาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เป็นอาชีพพระราชทานจากในหลวง รัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ปี 2505 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)ได้สานต่อการพัฒนาอาชีพนี้ พร้อมร่วมส่งเสริมพัฒนาวงการโคนม และอุตสาหกรรมนมไทยมาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีอายุค่อนข้างมากและก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้การประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีประสิทธิภาพลดลง ขณะที่เยาวชนรุ่นใหม่และบุตรหลานเกษตรกรได้ให้ความสนใจเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น ทำให้การสานต่ออาชีพเกษตรกรรมจากบรรพบุรุษมีแนวโน้มลดลง ซึ่งการเลี้ยงโคนมก็เป็นหนึ่งอาชีพที่กำลังเผชิญปัญหาดังกล่าวเช่นกัน องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ในฐานะองค์กรหลักที่มีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงโคนมของไทยมาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องกำหนดแนวทางพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะเป็นการสืบสานอาชีพการเลี้ยงโคนมให้มีความมั่นคงและเกิดความยั่งยืนต่อไปด้วย นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการตลาด โดยพยายามให้นมของ อ.ส.ค. สามารถส่งไปได้ทั่วโลก และพยายามทำให้เป็นฮาลาลด้วย โดยต้องปรับปรุงให้เป็นไปตามบทบัญญัติของโลก เพื่อหาช่องทางในการส่งออกไปตลาดโลกที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น
จากนั้นได้เยี่ยมชมโรงงานนมเชียงใหม่ที่ อ.ส.ค. ได้ขยายกำลังการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ โดยนำไปปรับปรุงในส่วนของโรงงาน ระบบการผลิต และเครื่องจักรใหม่ ซึ่งปัจุบันการผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการลงทุนในการปรับปรุงและการขยายไลน์ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ที่โรงงานนม อ.ส.ค. จังหวัดเชียงใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทำให้สามารถรองรับปริมาณน้ำนมดิบจากสหกรณ์โคนมและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจากทางภาคเหนือได้มากขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำนมดิบภาคเหนือมีปริมาณเพียงพอและมีมากกว่ากำลังการผลิตเดิมที่เคยผลิตได้ 15 ตัน/วัน ขยายเป็น 30 ตัน/วัน จึงทำให้ อ.ส.ค. สามารถรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรได้มากขึ้นอีกเท่าตัว
นางสาวมนัญญา กล่าวอีกว่า เมื่อกำลังการผลิตนมพาสจอร์ไรส์สูงขึ้น จะสามารถส่งผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นด้วย จึงเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดเชิงรุกให้แก่ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ที่สามารถกระจายผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์ให้เข้าถึงและทั่วพื้นที่ภาคหนือ รวมถึงภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศได้ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์นมพาสจอร์ไรส์ไทย-เดนมาร์ค ยังมีการวางแผนที่จะขยายตลาดไปยังกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ตลอดจนร้านนมต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคเหนืออีกด้วย