แนะปรับสวนยาง ปาล์มฯปลูกแบบห่างเลี้ยงแพะ-แกะเชิงคูส่งมาเลย์ ยันตลาดต้องการสูง กก.ละ 135 บาท

  •  
  •  
  •  
  •  

สภาเกษตรกรแห่งชาติ แนะเกษตรกรยุคราคาสินค้าเกษตรตกตกต่ำ ให้ทำการเกษตรเชิงคู่ เพื่อเสริมรายได้ให้มั่นคง ปรับสวนยางพารา ปาล์มน้ำมันให้ปลูกแบบห่าง เลี้ยงแพะ-แกะเสริมรายได้ ระบุตลาดมาเลเซียต้องการสูงขายในราคาช่างทั้งตัว กก.ละ 135 บาท เผยทำเอ็ฒโอยูแล้ว  เบื้องต้นส่งออกเดือน 150 ตัว แต่ลาดรับได้ถึง 3,000 ตัวต่อเดือน

   

       นายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ปัจจุบัน ภาคการผลิตทางการเกษตรของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย เกิดภาวะล้นตลาด เมื่อผลผลิตออกมาเกินความต้องการของตลาด ทำให้เกิดราคาตกต่ำจนเกษตรกรหลายคนถอดใจ สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่ปลูกปาล์ม ยางพารามาหลายชั่วอายุคน ปัญหาคือ เมื่อถึงรุ่น 2 – 3 ดินเสื่อมคุณภาพ การปลูกหนาแน่นเกินไป แดดส่องไม่ทั่วถึงเกิดโรคระบาดเยอะ

       อย่างไรก็ตาม ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม นิยมบริโภคเนื้อแพะ เนื้อแกะ มีความต้องการแพะและแกะอย่างมาก การตลาดยังเปิดกว้าง ปัจจุบันมาเลเซียสั่งนำเข้าแพะและแกะจากประเทศออสเตรเลียซึ่งมีระยะทางไกล เมื่อเทียบกับแพะและแกะจากประเทศไทยที่มีคุณภาพดีกว่า จึงเกิดแนวคิดว่า การทำเกษตรเชิงคู่เพื่อเสริมรายได้ซึ่งกันและกันด้วยการจัดการสวนยาง ปลูกระยะห่างอย่างเหมาะสม โดยปรับเปลี่ยนภายใต้ระเบียบของการยางแห่งประเทศไทย

      ส่วนสวนปาล์มน้ำมัน ก็เช่นกันขยายจากการปลูกแบบ 9X9 เมตร ขยายเป็น 10X10 – 12X12 เมตร วางแปลนโครงสร้างสวน แล้วปล่อยแพะและแกะเพื่อเป็นเครื่องตัดหญ้า มูลแพะและแกะนำไปเป็นปุ๋ยบำรุงได้ ที่สำคัญแพะและแกะกินอยู่ง่าย สามารถเลี้ยงควบคู่ได้ทั้งการทำสวนปาล์ม ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย เป็นต้น โดยเกษตรกรต้องศึกษาเทคนิคในการเลี้ยงโดยเฉพาะแบบเปิด เพราะแพะและแกะสามารถขายได้ทุกเดือนทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

      สำหรับแพะที่เหมาะสมในการขายต้องมรอายุ 8 เดือน ขณะที่แพะและแกะที่หลุดสเปค หรือปลดระวางราคาอาจลดลงก็สามารถจำหน่ายในตลาดท้องถิ่นหรือตามเมืองท่องเที่ยว เช่น พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี เกาะสมุย ก็มีความต้องการบริโภคเช่นกัน

       “ สภาเกษตรกรฯอยากให้เกษตรกรสามารถกำหนดการผลิต การตลาดและราคาได้เอง เราสนับสนุนให้เกษตรกรยืนอยู่บนขาและพึ่งพาตัวเองด้วยการทำการเกษตรอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2562 ได้นำเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ภาคใต้ทำบันทึกข้อตกลงการซื้อ-ขายกับภาคเอกชนจากประเทศมาเลเซีย ตกลงซื้อแพะและแกะมีชีวิต น้ำหนัก 25-40 กิโลกรัม/ตัว ในราคา 135 บาท / กิโลกรัม ต่อเดือนส่งขายไม่ต่ำกว่า 150 ตัว และสามารถขยับยอดขายได้ 2,000-3,000 ตัว/เดือน เนื่องจากทางประเทศมาเลเซียยินดีขยายตลาดไปยังประเทศกาตาร์และประเทศอื่นที่มีชาวมุสลิมให้ด้วย ” นายสิทธิพร กล่าว

    รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวอีกว่า  จากข้อมูล ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 การรับขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกรของสภาเกษตรกรแห่งชาติ มีเกษตรกรรวมตัวเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงแพะ/แกะภาคใต้รวม 44 กลุ่ม มีสมาชิก 2,453 คน หากเกษตรกรมีความต้องการทำการเกษตรเชิงคู่ หรือสนใจการเลี้ยงแพะและแกะเป็นส่วนเสริมรายได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สภาเกษตรกรจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ