กรมปศุสัตว์ร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงหมู เฝ้าระวัง ASF ลดความเสี่ยงในพื้นที่ชายแดน

  •  
  •  
  •  
  •  

อธิบดีกรมปศุสัตว์ เตรียมหารืออธิบดีกรมปศุสัตว์ของเมียนมา หารือถึงแนวทางในการกำจัดซากสุกรอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร พร้อมผนึกกำลังกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ เฝ้าระวังและลดความเสี่ยงในพื้นที่ชายแดน

           นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์มีการติดตามการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด และยืนยันว่ายังไม่พบโรคดังกล่าวในไทย ขณะเดียวกันได้สั่งการ ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยกระดับไบโอซีเคียวริตี้พร้อมดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมอย่างเข้มข้นที่สุด

          “ขณะนี้ ยืนยันว่ายังไม่พบโรค ASF ในไทย ไทยจึงยังเป็นเขตเฝ้าระวังโรคใน 20 จังหวัดติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้านที่ระบาดอยู่ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตรวจสอบในแต่ละพื้นที่ตลอดเวลา นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่ใช้แอพพลิเคชัน อี-สมาร์ทพลัส ประเมินความเสี่ยงฟาร์มสุกรของเกษตรกรในพื้นที่ชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน แล้วนำผลการประเมินดังกล่าวมาบริหารจัดการ เช่น หากพบว่ามีฟาร์มใดเข้าข่ายมีความเสี่ยงสูง เกษตรกรสามารถแจ้งความสมัครใจที่จะจำหน่ายสุกรออกจากฟาร์มก่อนที่จะเกิดโรค โดยกรมปศุสัตว์จะประสานความร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ หรือสมาคมผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่เข้าทำการ รับซื้อ ซึ่งเป็นไปตามมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดโรค” นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว

          ขณะเดียวกัน ยังเพิ่มจุดตั้งด่านตรวจสอบการลักลอบเคลื่อนย้ายสุกรหรือเนื้อสุกร และการบังคับใช้กฎหมายปราบปรามโรงฆ่าสัตว์เถื่อนในจังหวัดที่อยู่ตามแนวชายแดน ตลอดจน ส่งเสริมให้เกษตรกรเจ้าของฟาร์มสุกร ยกระดับการเลี้ยงการจัดการฟาร์ม เข้าสู่การรับรองมาตรฐาน GAP หรือมาตรฐาน GFM ของกรมปศุสัตว์

     สำหรับการให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน ASF แก่เกษตรกรที่เกิดจากความร่วมมือของกรมปศุสัตว์และภาคเอกชนนั้น ขณะนี้ได้อบรมผู้เลี้ยงสุกรในภาคอีสานและภาคตะวันออกครบทั้ง 100% แล้ว ส่วนในภาคเหนือและภาคใต้ คาดว่าจะครบถ้วนทั้งหมดในเร็วๆนี้ นอกจากนี้ในเร็วๆนี้ยังมีกำหนดเข้าพบหารือกับอธิบดีกรมปศุสัตว์ของเมียนมา ถึงประเด็นความร่วมมือในการควบคุมการกำจัดซากสุกรอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้ออีกทางหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือด้วยดีจากทางการเมียนมา

       อย่างไรก็ตาม หากประชาชนพบข้อมูลใดที่เกี่ยวข้องกับกรมปศุสัตว์ สามารถแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่น (Application) “DLD 4.0” ที่สามารถดาวน์โหลด และติดตั้งได้ทั้งระบบ iOS ผ่าน App Store และระบบ Android ผ่าน Google play เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจสอบการกระทำความผิดและดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างทันท่วงที/