ซีพีเอฟ เดินสายจัดอบรมเกษตรกรรายย่อย ป้องกัน ASF ในสุกรล่าสุดถึงบึงกาฬ

  •  
  •  
  •  
  •  


ปศุสัตว์จังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) และ เอ็มเอสดี แอนิมัล เฮลธ์ (ประเทศไทย)  จัดอบรม เรื่อง “เข้าใจ รู้ทัน ร่วมป้องกันโรค ASF ในสุกร” ให้กับผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจังหวัดบึงกาฬกว่า 264 คน นับเป็นจังหวัดที่ 16 ของภาคอีสาน โดยมีนายธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬเป็นประธานในพิธี ณ โรงแรมเดอะวัน อำเภอเมืองบึงกาฬ

       นายธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ขณะนี้ จังหวัดบึงกาฬยังไม่มีรายงานพบโรคอหิวาต์ปอฟริกาในสุกร ( ASF)  แต่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นพื้นที่ด่านหน้าที่สำคัญในการสกัดกั้นไม่ให้โรคดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย จังหวัดบึงกาฬได้บูรณาการกับปศุสัตว์จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันวางแผนและรับมือป้องกันผลกระทบที่มีต่อผู้เลี้ยงหมู และอุตสาหกรรมปศุสัตว์ รวมถึงความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ พร้อมย้ำว่าจังหวัดบึงกาฬได้มีการควบคุมการนำเข้า การผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูอย่างเข้มงวด เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์หมูที่ผู้บริโภคซื้อมีความปลอดภัย

      น.สพ.ดร.สมพร พรวิเศษศิริกุล ปศุสัตว์จังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ขณะนี้ว่าประเทศไทยยังไม่พบโรค ASF ในสุกร ขอให้เกษตรกรและประชาชนมั่นใจในการดำเนินมาตรการที่เข้มงวดของปศุสัตว์จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปกป้องพี่น้องเกษตรกร พร้อมย้ำกับผู้บริโภคทุกคนว่า โรค ASF ในสุกร เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คน การอบรมให้ความรู้เกษตรกร จะช่วยให้ทุกคนทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องในการป้องกันโรค ASF ในสุกร เพื่อขจัดความเสี่ยงต่างๆ รวมถึงเข้าใจในขั้นตอนการปฏิบัติหากสงสัยว่ามีการเกิดโรค

      ที่ผ่านมาปศุสัตว์จังหวัดบึงกาฬและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันป้องกันโรค ASF อย่างเข้มแข็ง โดยมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ASF พร้อมให้เกษตรกรได้ทราบถึงช่องทางการแจ้งข่าวสาร (Call Center) หรือ ผ่านแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ของกรมปศุสัตว์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินการควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว พร้อมจัดซ้อมแผนฉุกเฉินฯ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

      นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานกองสารวัตรและกักกันสัตว์ ที่อยู่ประจำตามแนวชายแดนและประจำจุดผ่านแดน เพื่อควบคุมและห้ามไม่ให้มีการนำเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในเขตจังหวัดบึงกาฬ รวมถึงเข้มงวดเรื่องการเคลื่อนย้ายหมูต้องมีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ (ร.4) พร้อมดำเนินการปราบปรามโรงฆ่าสัตว์ที่ไม่มีใบอนุญาตตามกฎหมาย
      ด้านนายธีระพงษ์ สมบัติหลาย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นการผลิตหมูที่มีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน บริษัทฯ ได้ยกระดับมาตรการป้องกันโรค ในโรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มบริษัทและฟาร์มเกษตรกรในคอนแทร็คฟาร์ม จนถึงกระบวนการขนส่งตลอดทั้งห่วงโซ่


        นอกจากมาตรการป้องกันโรคภายในบริษัทฯแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกันโรคไม่ให้เข้ามาในประเทศ บริษัทฯ จึงร่วมกับปศุสัตว์จังหวัดเร่งดำเนินการจัดอบรมให้ความรู้เกษตรกรรายย่อยที่ส่วนใหญ่เลี้ยงหมูในฟาร์มแบบเปิดครอบคลุมทุกจังหวัด ได้ปรับปรุงระบบป้องกันโรคในฟาร์ม และได้รู้ทันและเข้าใจถึงสถานการณ์โรค และดำเนินการป้องกันตามมาตรการของกรมปศุสัตว์อย่างเข้มงวด มีข้อมูลข่าวสารที่ช่วยให้เกษตรกรรายเล็กเลี้ยงหมูอย่างมั่นใจ และเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังและแจ้งข่าวสาร เตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนและทุกระดับ ภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย เพื่อให้ผู้บริโภคทั่วประเทศมั่นใจการผลิตหมูที่ปลอดภัยของไทย