รัฐผนึกกำลังเอกชน ติดอาวุธ ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยทั่วไทย “เข้าใจ รู้ทัน ร่วมป้องกัน ASF”

  •  
  •  
  •  
  •  


ภาครัฐ-เอกชนจับมือเดินสายติวเข้าผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ล่าสุดปศุสัตว์จังหวัดหนองคาย จับมือ บมจ.ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จัดอบรมเรื่อง “เข้าใจ รู้ทัน ร่วมป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร” แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในพื้นที่ จ.หนองคาย กว่า 280 คน เพื่อลดความเสี่ยง และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการป้องกันโรคระบาดเข้ามาในประเทศ

           วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเรื่อง “เข้าใจ รู้ทัน ร่วมป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร” แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย (ไม่เกิน 50 ตัว) ในพื้นที่ จ.หนองคาย พร้อมกับ นายวิบูลย์ เลิศวัฒนาสมบัติ ปศุสัตว์จังหวัดหนองคาย น.สพ.คุณวุฒิ เครือลอย รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) และนักวิชาการ ร่วมให้ความรู้แก่เกษตรกรร่วมป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ทั้งนี้ ซีพีเอฟร่วมสนับสนุนเร่งจัดอบรมผู้เลี้ยงหมูรายย่อยให้ครบทุกจังหวัดของภาคอีสาน เพื่อลดความเสี่ยงและเป็นฟันเฟืองสำคัญในการป้องกันโรคระบาดเข้ามาในประเทศ

           นายรณชัย  กล่าวว่า จังหวัดหนองคายมีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านจึงให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมเกษตรกรรายย่อยให้มีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันโรคระบาดนี้อย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันความเสียหายที่มีต่อพี่น้องเกษตรกรรวมถึงภาคเกษตรต่อเนื่องที่มีมูลค่ามหาศาลหากเกิดโรคระบาดขึ้นจริง
     

        ด้านนายวิบูลย์ เ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ให้ความสำคัญกับ ฟาร์มเลี้ยงหมูรายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฟาร์มแบบเปิด มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ง่าย และหนองคายมีผู้เลี้ยงหมูรายย่อยกว่า 300 ฟาร์ม ในพื้นที่ 9 อำเภอ มีจำนวนหมูกว่า 5,000 ตัว ปศุสัตว์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมมือกับ บมจ.ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จัดอบรมให้ความรู้และเตรียมความพร้อมเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ปรับระบบการเลี้ยงให้มีระบบป้องกันโรคที่ดี รู้วิธีสังเกตอาการของโรค วิธีปฎิบัติที่ถูกต้อง รวมถึงมาตรการเยียวยา ซึ่งเป็นอีกมาตรการในการสร้างปราการป้องกันโรคให้แข็งแกร่ง รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจาก บจ.ซีวา แอนิมัล เฮลธ์ (ประเทศไทย) ในการใช้ชุดตรวจโรค อีกด้วย


           “ขณะนี้ว่าประเทศไทยยังไม่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF จึงขอให้เกษตรกรและประชาชนมั่นใจในการดำเนินมาตรการที่เข้มงวดของปศุสัตว์จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปกป้องพี่น้องเกษตรกร” ปศุสัตว์หนองคายกล่าวและว่า นอกจากนี้ หากเกษตรกรพบสุกรแสดงอาการป่วย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือ Call Center ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (War Room) ทุกจังหวัด กรมปศุสัตว์ DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

            ขณะที่ น.สพ.คุณวุฒิ  กล่าวว่า บริษัทฯ มีความห่วงใยผู้เลี้ยงหมูรายย่อยทั่วประเทศ และถือเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ดังนั้น ความร่วมมือจัดการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรรายย่อยทั่วภาคอีสานในครั้งนี้ บริษัทฯได้นำสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้  เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจและสามารถปรับปรุงระบบป้องกันโรคในฟาร์มตนเอง เช่น การห้ามนำเศษอาหารเหลือจากการบริโภคมาให้หมูกิน การล้างทำความสะอาดฟาร์มและอุปกรณ์ด้วยยาฆ่าเชื้อ การใส่รองเท้าบู๊ทในฟาร์ม การพ่นยาฆ่าเชื้อยานพาหนะที่ขนส่งหมูและอาหารสัตว์ การเข้มงวดห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาในฟาร์ม เป็นต้น

              อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ทำงานร่วมกับกรมปศุสัตว์อย่างใกล้ชิด ในการติดตามสถานการณ์การระบาดและเตรียมแผนรับมือมาล่วงหน้าแล้วเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งส่งผลให้บริษัทฯ สามารถดำเนินการป้องกันได้ตามแผนที่วางไว้ทันที พร้อมร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จัดสร้างศูนย์พ่นยาฆ่าเชื้อยานพาหนะที่ด่านชายแดน 2 แห่ง ที่เชียงรายและมุกดาหาร ด้วยงบ 4,000,000 บาท พร้อมจัดอบรมให้ความรู้เรื่องโรค ASF แก่เกษตรกรรายย่อยทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

          นอกจากนี้ที่ผ่านมาได้มีการจัดอบรมผู้เลี้ยงหมูรายย่อยไปแล้ว 9 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ มหาสารคาม สุรินทร์ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ นครราชสีมา มุกดาหาร หนองคาย และกาฬสินธุ์  และร่วมกับปศุสัตว์อำเภอลงพื้นที่ให้ความรู้ มอบยาฆ่าเชื้อ  รวมถึงการมอบสื่อความรู้ในการป้องกันโรค ASF ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยสามารถเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมในการป้องกันโรค ASFได้