มหันตภัย“อหิวาต์แอฟริกาในสุกร”ประชิดเพื่อนบ้านแล้ว …แต่..ขอย้ำคนกินปลอดภัย 100%

  •  
  •  
  •  
  •  

      “แม้การระบาดของโรคนี้จะรุนแรงสำหรับอุตสาหกรรมหมู แต่ ASF ก็เป็นโรคที่ติดเฉพาะในหมูเท่านั้น ย้ำว่า ไม่ติดต่อสู่คนและสัตว์ชนิดอื่น และขออย่าเข้าใจผิด หรือตื่นตระหนกเกินไป เพราะคนยังกินเนื้อหมูได้เป็นปกติไม่มีอันตรายใดๆ”

        มหันตภัย!!“อหิวาต์แอฟริกาในสุกร” เพียง 6 เดือนครั่ง ได้แพร่กระจายและระบาดทั่วเขตการเลี้ยงสุกรในจีน สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูของจีนแล้วถึง 28 มณฑล จาก 32 มณฑล ชี้ปัจจุบันการระบาดจ่อประชิดติดประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมา  สปป.ลาว และล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนาม ยอมรับว่า พบโรค ASF ในฟาร์มหมูขนาดเล็กที่เลี้ยงหมูหลังบ้านแล้ว 3 แห่ง ในเมืองที่อยู่ชานกรุงฮานอย จนต้องทำลายหมูทิ้งไปกว่า 100 ตัว

            ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 1921 ถึงวันนี้โรคอหิวาต์แอฟริกาสุกร (African Swine Fever : ASF)  เกิดครั้งแรกรวมเวลายาวนานถึง 98 ปีแล้ว และปัจจุบันกลับมาระบาดอีก สร้างความวิตกกังวลให้กับคนในวงการเลื้ยงหมูทั่วโลกได้ เนื่องเพราะไวรัสตัวนี้อาศัยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ-สังคมใหม่ของโลกในยุคปัจจุบัน ที่การเดินทางข้ามประเทศ ข้ามทวีป เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย

         จากเดิมโรคที่เคยติดต่อจากชายแดนระหว่างประเทศ กลับข้ามจากทวีปหนึ่งสู่อีกทวีปได้เพียงชั่วข้ามคืน และโรคนี้ยังเข้าสู่เมืองสวรรค์ของหมู คือประเทศจีน ที่มีการเลี้ยงหมูหนาแน่น มีหมูมากที่สุดในโลกหรือเกือบครึ่งโลก และยังคงมีการเลี้ยงแบบหลังบ้านอยู่เป็นจำนวนมาก

         ที่สำคัญจีนยังมีประชากรหนาแน่นอันดับหนึ่งของโลก และภายหลังเศรษฐกิจประเทศเฟื่องฟูคนจีนมีการเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก จึงไม่แปลกใจที่เชื้อโรคนี้จะแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วในเวลาเพียงครึ่งปี จนอาจเรียกได้ว่าโรค ASF กำลังจะกลายเป็นการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก (Pandemic) ที่จะเกิดขึ้นในหมู ไม่ต่างกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่เกิดกับมนุษย์ครั้งแรก เมื่อคศ.1918 ที่ทำให้คนตายเป็นใบไม้ร่วง ขณะที่ในทางระบาดวิทยาแล้ว กว่าโรคชนิดหนึ่งจะแพร่กระจายได้ขนาดนี้ ปกติต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี

         

          ผศ.นายสัตวแพทย์คัมภีร์ กอธีระกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสุกรในอาเซี่ยนและจีน ให้การยืนยันว่า แม้การระบาดของโรคนี้จะรุนแรงสำหรับอุตสาหกรรมหมู แต่ ASF ก็เป็นโรคที่ติดเฉพาะในหมูเท่านั้น ย้ำว่า ไม่ติดต่อสู่คนและสัตว์ชนิดอื่น และขออย่าเข้าใจผิด หรือตื่นตระหนกเกินไป เพราะคนยังกินเนื้อหมูได้เป็นปกติไม่มีอันตรายใดๆ เนื้อหมูยังเป็นเนื้อสัตว์ที่อร่อยปลอดภัยมาตลอด และการปรุงสุกที่สาธารณสุขแนะนำมาตลอดก็ยังคงเป็นมาตรการที่ทุกคนพึงกระทำให้เป็นนิสัย เพราะหมูที่ปรุงสุก ต้มในน้ำเดือด 20 นาที ก็ช่วยให้ปลอดภัยจากทั้งเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และยีสต์ทุกชนิดอยู่แล้ว

        ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 ที่พบการระบาดของโรค ASF ในจีน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยต่างระดมสรรพกำลัง ระดมสมอง และตั้งค่ายกลแนวป้องกัน เพื่อหาทางป้องกันโรคนี้ไม่ให้เข้ามาทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูไทยได้อย่างเด็ดขาด เรียกได้ว่าไทยเป็นประเทศเดียวที่เริ่มสร้างค่ายกลตั้งรับ ASF อย่างแน่นหนา แม้ว่าจะยังไม่เกิดโรคในไทยก็ตาม และถือเป็นโชคดีที่ไทยมีองค์ความรู้ทั้งด้านสัตวแพทย์และสัตวศาสตร์ และเรายังถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านการเลี้ยงหมูในภูมิภาคเอเชียอยู่ด้วย

            สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมาไม่เพียงแค่การออกมาตรการห้ามนำเข้าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากประเทศที่มีการระบาดของ ASF เท่านั้น ยังมีการตั้ง 50 ด่านตรวจตามจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยรอบประเทศไทย รวมถึงการตรวจเข้มตามท่าอากาศยานป้องกันการลักลอบนำผลิตภัณฑ์สุกรติดตัวของนักท่องเที่ยว ควบคู่กับการเร่งตั้ง War Room ของภาครัฐและผู้เลี้ยงหมู เพื่อตรวจหาจุดเสี่ยง ASF ทั้งในส่วนจังหวัด อำเภอ ตำบล ไปจนถึงหมู่บ้าน รวมทั้งการจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศในทุกสัปดาห์ ด้วยความร่วมมือของกรมปศุสัตว์ สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และภาคมหาวิทยาลัยที่มีคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ทุกแห่ง

           ล่าสุด ภาคเอกชนร่วมกันลงขัน สร้างโรงชำระล้างรถบรรทุกสุกรที่ขนส่งสุกรไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเครื่องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ริมทางหลวงใกล้ด่านกักกันสัตว์ โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติรับผิดชอบสร้างที่ด่านกักกันสัตว์ จ.หนองคาย โดยให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการ, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (มหาชน) จำกัด หรือ ซีพีเอฟ รับผิดชอบสร้างให้ 2 ด่าน ทั้ง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และด่านจ.มุกดาหาร, เครืองเบทาโกร รับผิดชอบสร้างที่ด่านกักกันสัตว์ จ.นครพนม , บริษัทไทยฟู้ดส์ จำกัด รับผิดชอบสร้างที่ด่านปอยเปต จ.สระแก้ว นี่คือความเสียสละและความตื่นตัวของภาคเอกชนที่ตั้งใจร่วมมือกันสกัดกั้นโรคนี้อย่างเต็มที่

  

          อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือต่างๆ เหล่านี้ ต้องควบคู่ไปกับความตื่นตัวของผู้เลี้ยงหมู ขอให้เกษตรกรตระหนักและเร่งกวดขันการป้องกันโรคให้มีประสิทธิภาพ ต้องปรับองค์ความรู้ให้สามารถแก้ทางเชื้อนี้ให้ได้ ให้รีบปรับแนวรับและอุดรูรั่วของฟาร์ม เสริมค่ายกลเรื่องไบโอซีเคียวริตี้เพื่อให้ป้องกันโรคได้ดียิ่งขึ้น สำหรับฟาร์มที่เลี้ยงหมูหลังบ้านก็ต้องใส่ใจในการดูแลหมูให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงการใช้เศษอาหารมาเลี้ยงหมู หรือถ้าจำเป็นก็ต้องต้มอาหารให้สุก ต้องต้มแบบเดือดปุดๆ ประมาณ 20 นาที ไวรัสต่างๆก็จะตายไม่สามารถติดเชื้อต่อได้อีก และยังถือว่าโชคดีที่โรคนี้ไม่ได้แพร่เร็ว ไม่แพร่ไปทางอากาศเหมือนอย่างโรคปากและเท้าเปื่อย ทำให้พอมีหนทางป้องกันและยับยั้ง ยังพอมีเวลาให้เกษตรกรได้ตั้งรับ

         สุดท้ายที่ต้องย้ำคือขอให้ “ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด ต้องไม่ตระหนก แต่ต้องตระหนัก” แม้โรคนี้จะรุนแรงด้วยเชื้อที่อึด ทนต่อหลายสภาพการณ์ และตายยาก แต่คนเลี้ยงหมูก็ต้องจัดหนักด้วยมาตรการควบคุมกำจัดที่รวดเร็ว ส่วนผู้บริโภคก็ขอให้มั่นใจว่า “เนื้อหมูไทยปลอดภัย บริโภคได้ 100%”

        ก็นับเป็นโรคระบาดในสุกรที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แม้การบริโภคเนื้อหมูจะปลอดภัย บริโภคได้ 100% อันเนื่องจากโรคนี้ไม่ติดต่อกับสัตว์อื่นและไม่ติดต่อคนก็ตาม  แต่หากระบาดแล้วจะสร้างความเสียหายต่อวงการอุตสาหกรรมการเลี้ยงอย่างใหญ่หลวง