สถานทูตจีนประจำประเทศไทย ออกคำเตือนถึงนักท่องเที่ยวชาวจีน ห้ามนำผลิตภัณฑ์จากหมูเข้ามาในไทยโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู ฝ่าฝืนโทษปรับ 2 แสนบาท อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยืนยันไม่มีการแพร่ระบาดในไทย ไม่มีการติดต่อสู่คนหรือสัตว์ชนิดอื่น ชี้เพื่อเป็นการป้องกัน สั่งเข้มงวดทั้ง 50 ด่านทั่วทั่วประเทศตรวจอย่างเข้มงวด
น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever-ASF) ขอยืนยันว่า โรคนี้ติดต่อเฉพาะในสุกรเท่านั้น ไม่มีการติดต่อสู่คนหรือสัตว์ชนิดอื่น ที่สำคัญการเฝ้าระวังและป้องกันโรค ASF มีความเข้มงวดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามนำเข้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่มาจากประเทศจีน ซึ่งพบการระบาดของโรคในขณะนี้ ล่าสุดสถานเอกอัครรัฐทูตจีนประจำประเทศไทย ออกคำเตือนถึงนักท่องเที่ยวชาวจีน เรื่องห้ามนำเนื้อสด ไส้กรอก แฮม และเบคอน เข้ามายังราชอาณาจักรไทยโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันโรคดังกล่าวไม่ให้ระบาดเข้ามาสู่ไทย ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษปรับในอัตราสูงถึง 2 แสนบาท ถือเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ
“ยืนยันว่าโรคนี้ไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์อื่นอย่างแน่นอน ประชาชนสามารถบริโภคเนื้อสุกรได้อย่างปลอดภัยไม่ต้องกังวล แนะนำว่าการรับประทานต้องเน้นการปรุงให้สุกตามปกติ หลีกเลี่ยงการทานเนื้อหมูดิบ ที่สำคัญโรคนี้ยังไม่เข้ามาในเมืองไทย และทุกภาคส่วนยังคงเดินหน้าป้องกันและเข้มงวดตรวจสอบอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะความร่วมมือกับฝ่ายทหาร ในจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ด่านกักกันสัตว์ทุกด่าน และสนามบินทุกแห่ง ในการตั้ง 50 ด่านทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ และในทุกสนามบินเจ้าหน้าที่ได้เพิ่มจำนวนสุนัขบีเกิล เพื่อทำการตรวจสัมภาระของผู้โดยสารให้มีความถี่มากยิ่งขึ้น” น.สพ.สรวิศ กล่าวและว่า
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา โดยกรมปศุสัตว์ได้ประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกันบูรณาการทำงานพร้อมยกระดับการป้องกันโรคให้เข้มข้นขึ้น พร้อมสั่งการเจ้าหน้าที่ทุกด่านตรวจในการเข้มงวดกับการฆ่าเชื้อที่อาจจะแฝงมากับยานพาหนะของนักท่องเที่ยว ด้ายการใช้ยาฆ่าเชื้อแบบโฟมที่สามารถฆ่าเชื้อในอากาศได้นานกว่า 30 นาที ควบคู่กับการให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงทั่วประเทศ และยกระดับการเลี้ยงให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพเพื่อป้องกันโรคอย่างสูงสุด จากความร่วมมือของกรมปศุสัตว์ สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และภาคมหาวิทยาลัยที่มีคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ทุกแห่ง