การปศุสัตว์เมืองเพชรเฟื่องสุด สร้างมูลค่าปีละกว่า 3,000 ล้านบาท “ลักษณ์” ไปดูงานชมเป๊าะเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรี ยอมรับมีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง สามารถพัฒนาโคเนื้อแบบครบวงจร จนกลายเอกลักษณ์ประจำจังหวัด
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรี ณ ตำบลสมอพลือ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี และกลุ่มแปรรูปอาหารฮาลาล บ้านท่าแร้ง ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ว่า เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนปศุสัตว์เพชรบุรี ก่อตั้งขึ้นโดยได้รับงบประมาณจากกรมปศุสัตว์ในกิจกรรมการพัฒนาระบบการเลี้ยงโคเนื้อ
[adrotate banner=”3″]
มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรมีการรวมตัวกันทำกิจกรรมแบบมีส่วนร่วม มีความเข้มแข็ง มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะและประสบการณ์ด้านโคเนื้อให้เกิดความเชื่อมโยงอย่างครบวงจร เนื่องจากโคเนื้อจัดเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดเพชรบุรี นำไปสู่การพัฒนาโคเนื้อแบบครบวงจร ทั้งต้นทาง (โคพ่อแม่พันธุ์) กลางทาง (โคขุน) และปลายทาง เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อโค ที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นและมีเอกลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี
นอกจากนี้ วิสาหกิจชุมชนปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรี ยังได้มีการเชื่อมโยงกับวิสาหกิจชุมอื่นต่าง ๆ เช่น การนำเนื้อโคขุนคุณภาพมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นเมนูต่าง ๆ เช่น มัสมั่น กุรุหม่า และตุ๋นยาจีน เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว สามารถสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชนได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ในปี 2560 มีผลผลิตทางด้านปศุสัตว์ของจังหวัดเพชรบุรี มีมูลค่าประมาณ 3,402 ล้านบาท การเลี้ยงปศุสัตว์ที่เป็นรายได้สำคัญ คือ การเลี้ยงโคเนื้อ สุกร โคนม ไก่เนื้อ เป็ดไข่ และไก่พื้นเมือง โดยเป็นการเลี้ยงทั้งในรูปแบบรายย่อยและในรูปแบบฟาร์ม มีพื้นที่เลี้ยงที่สำคัญ ได้แก่ 1) โคเนื้อ มีการเลี้ยงทั่วไปในทุกอำเภอ ประกอบด้วย การเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์ลูกผสมและโคพื้นเมือง โดยมีการเลี้ยงโคเนื้อมากที่สุดในพื้นที่อำเภอบ้านลาด 2) โคนม มีการเลี้ยงในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ชะอำ อ.แก่งกระจาน อ.เมืองเพชรบุรี และ อ.ท่ายาง ตามลำดับ 3) สุกร มีการเลี้ยงทั่วไปในทุกอำเภอ โดยมีการเลี้ยงสุกรมากที่สุดในอำเภอชะอำ 4) แพะ มีการเลี้ยงในทุกพื้นที่ โดยพื้นที่ที่มีการเลี้ยงแพะมากที่สุด คือ อ.ชะอำ อ.แก่งกระจาน และ อ.ท่ายาง ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงแพะเนื้อและแพะพื้นเมืองพันธุ์บอร์พันธุ์แองโกลนูเบียนและพันธุ์ผสม และ 5) สัตว์ปีก มีการเลี้ยงทั่วไปในทุกอำเภอ ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงไก่พื้นเมืองและไก่เนื้อ ซึ่งมีฟาร์มไก่เนื้อมาตรฐานจำนวน 52 ฟาร์ม และการเลี้ยงไก่ไข่ มีฟาร์มไก่ไข่มาตรฐานจำนวน 41 ฟาร์ม