สารเร่งเนื้อแดงในหมูสหรัฐ…หายนะหมูไทย

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย อุษณีย์ รักษ์กสิกิจ : usanee.rak@gmail.com

 

ภารกิจนำพาหมูป่า 13 ชีวิตกลับบ้านที่ประสบความสำเร็จและเด็กๆทุกคนได้กลับมาใช้ชีวิตดังเช่นที่เคยเป็นมากว่าครึ่งเดือน นับว่าเป็นเรื่องที่ทำให้คนไทยและคนทั้งโลกต่างปิติยินดี หากแต่เมื่อหันกลับไปมองเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยกลับต้องพะว้าพะวังกับอนาคตของตนเอง ที่กำลังถูกพญาอินทรีย์สหรัฐอเมริกา จ้องที่จะตะครุบเหยื่ออันโอชะอย่างประเทศไทย ด้วยการขนเอาเนื้อหมูรวมถึงเศษชิ้นส่วนที่คนอเมริกันไม่ทาน ทั้งหัว ขา เครื่องใน มาดั๊มพ์ขายในไทย ซึ่งไม่เฉพาะผู้บริโภคเท่านั้นที่ต้องเสี่ยงกับการต้องกินหมูสหรัฐที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูได้อย่างอิสระ

หากแต่เกษตรกรคนไทยทั้งคนเลี้ยงหมู 195,000 ราย และห่วงโซ่การผลิตทั้งอุตสาหกรรมตั้งแต่ เกษตรกรผู้ปลูกพืชทั้งส่วนของรำข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ภาคอาหารสัตว์ จนถึงเวชภัณฑ์สัตว์ไทย รวมกันกว่า 2 แสนราย ต้องล่มสลายแน่เพราะไม่สามารถแข่งขันกับหมูสหรัฐได้

เรื่องนี้ ANAN นักวิจัยของ EfeedLink, Singapore วิเคราะห์กรณีความพยายามของสหรัฐในครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ เขาบอกว่าเนื่องจากไทยกับ สหรัฐ มีการเลี้ยงหมูที่แตกต่าง โดยเฉพาะการใช้สารปรับสภาพซากซึ่งเป็นสารเร่งนื้อแดง-แร็กโตพามีน (Ractopamine) ที่ใช้กันเป็นปกติในสหรัฐ แต่ในประเทศไทยเป็นสารต้องห้ามตามกฎหมายทั้งห้ามใช้ผสมอาหารสัตว์ ห้ามปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ทำให้เป็นข้อกำหนดที่ไม่สอดคล้องการ

กฎหมายห้ามของไทยประกอบด้วย ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของอาหารสัตว์ที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าเพื่อขาย และกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะคุณสมบัติและส่วนประกอบของวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์ พ.ศ.2545 และ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ.2546 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์

ขณะที่สหรัฐพยายามแก้ปมสารเร่งเนื้อแดงของตัวเองในเวทีที่ประชุม CODEX ครั้งที่ 35 เมื่อ 2-7 กรกฎาคม 2555 โดยสามารถชนะมติ MRL ของ Ractopamine แบบไม่เป็นเอกฉันท์จากประเทศสมาชิก 69 ต่อ 67 โดยไทยวางตัวเป็นกลาง ทั้งๆที่มีกฎหมาย 2 ฉบับในประเทศที่ห้ามใช้ผสมอาหารสัตว์ ห้ามปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ดังกล่าวข้างต้น

ระหว่างการยื่นร่างมาตรฐานนี้กลุ่มสหภาพยุโรป นอร์เวย์ สมาพันธรัฐสวิส อียิปต์ รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีนคัดค้านการรับรองร่างมาตรฐานนี้ โดยสหภาพยุโรปได้แสดงเจตจำนงที่จะยังคงกฎหมายของสหภาพยุโรปในปัจจุบันไว้ เนื่องจากประเด็น safety concerns นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศได้ขอบันทึกความไม่เห็นชอบในการรับรองครั้งนี้ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน เคนยา อียิปต์ ตุรกี โครเอเชีย อิหร่าน รัสเซียและซิมบับเวย์

หลังจากนั้นสหรัฐอ้างมติ CODEX กดดันให้ไทยเปิดตลาดเนื้อหมูมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 โดยดำเนินการผ่านที่ประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุน ไทย-สหรัฐฯ (TIFA JC) ที่มีตัวแทนหน่วยงานราชการฝ่ายไทยและผู้แทนการค้าสหรัฐร่วมประชุมปีละ 2 ครั้ง และในการประชุมอื่นๆ อีกหลายครั้งในระดับทวิภาคี

ล่าสุด สภาผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติของสหรัฐ (NPPC) รุกหนักขึ้นผ่านผู้แทนทางการค้า (USTR) โดยเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) ที่ให้กับภาคส่งออกของไทย หรือแม้แต่ 44 สมาชิกสภาคองเกรส ก็ยังร่วมลงนามและยื่นหนังสือถึง ดร.วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสหรัฐอเมริกา ให้เปิดตลาดเนื้อหมูและยังไม่ลืมอ้างการขอให้รัฐบาลสหรัฐตัดสิทธิ GSP

นอกจากนี้ ANAN ยังวิเคราะห์จากปมประเด็นดังกล่าว จากการผูกโยงกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยถือปฏิบัติ และกฎขององค์การการค้าโลก WTO…สำหรับกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยถือปฏิบัติ เป็นไปตามแนวทาง ทฤษฎีทวินิยม (Dualism) ทฤษฎีนี้ถือว่ากฎหมายภายในกับกฎหมายระหว่างประเทศ มีลักษณะที่แตกต่างกัน ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน เป็นกฎหมายคนละระบบแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด แตกต่างกันทั้งที่มา การบังคับใช้ และความผูกพัน

ในการนี้ถ้ากฎหมายภายในขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ ยังถือว่ากฎหมายภายในสมบูรณ์อยู่ใช้บังคับได้ภายในรัฐ แต่ถ้าการบังคับใช้กฎหมายภายในดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐอื่น รัฐนั้นในฐานะเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้นด้วย นอกจากนี้ รัฐที่นิยมในทฤษฎีดังกล่าว เมื่อเข้าผูกพันในกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ในกรณีที่จะนำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับในประเทศ จะนำมาใช้บังคับเลยไม่ได้ จะต้องนำกฎหมายนั้นมาแปลงให้เป็นกฎหมายภายในเสียก่อน อาทิ ออกประกาศ หรือ พ.ร.บ. รองรับ

ดังนั้นประเทศไทยถือว่า กฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศมีฐานะเท่าเทียมกัน และเป็นอิสระจากกันและกัน ดังนั้นจึงไม่อาจที่ จะนำกฎหมายระหว่างประเทศมาบังคับใช้ภายในประเทศได้โดยอัตโนมัติ แต่ต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนหรือแปลง รูปกฎหมายนั้นให้เป็นกฎหมายภายในเสียก่อนจึงจะสามารถนำมาบังคับใช้ได้

ส่วนกฎขององค์การการค้าโลก WTO ที่สหรัฐอ้างถึงเชิงเปรียบเทียบแม้ไม่ได้กล่าวตรงๆ ดังที่ NPPC ของสหรัฐกล่าวในแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ NPPC.org  เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่า….Thailand is a top beneficiary of the U.S. Generalized System of Preferences (GSP) program …

[adrotate banner=”3″]

ประเทศไทยได้ประโยชน์ในระดับสูงกับ GSP ที่สหรัฐให้… เท่ากับ NPPC ได้อ้างถึง “การปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง” (The Most Favoured Nation Treatment : MFN) หมายถึง การที่ประเทศคู่ค้าใดได้ประโยชน์จากคู่ค้า ก็ต้องให้ตอบแทนในลักษณะที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ถึงแม้ GSP ทางปฏิบัตินำมาเป็นข้อต่อรองการเจรจาการค้าไม่ได้ แต่ในทางปฏิบัติไทยคงไม่สามารถโต้แย้งประเด็นนี้กับสหรัฐ และต้องตอบแทนทางการค้าให้สหรัฐที่เป็นคู่ค้า

สำหรับประเด็นที่ NPPC กล่าวว่าประเทศไทยไม่เปิดตลาดเนื้อหมูและเครื่องในหมูให้สหรัฐ แต่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ (เครื่องใน) จากประเทศอื่นๆ … Thailand also does not import uncooked pork and pork offal from the United States, even though it imports these products from other international supplies. เท่ากับอ้างถึง “หลักการไม่เลือกปฏิบัติ” (Non-Discrimination Principles)ถึงแม้ไทย-สหรัฐ ไม่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างกัน แต่สหรัฐกำลังอ้างถึงการเป็นสมาชิก WTO เหมือนกับประเทศที่ไทยนำเข้าเครื่องในจากประเทศที่กล่าวถึง ปัจจุบันนำเข้า 5 ประเทศหลักคือ จีน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน อิตาลี นอกนั้นจะมี เกาหลีใต้ เบลเยี่ยม โปแลนด์ บราซิล หากแต่ประเทศที่กล่าวมานี้ไม่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง

อย่างไรก็ตาม เพื่อลดแรงกดดันการค้าหมูจากสหรัฐและลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหมูไทยและอุตสาหกรรมอื่นๆ ของไทยให้น้อยที่สุด สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ น่าจะพิจารณาเสนอคณะกรรมการสมาคมฯ ให้เปิดตลาดเครื่องใน Non-Ractopamine ให้ผู้ส่งออกสหรัฐ โดยการกำหนดโควต้ารวมตามที่สมาคมฯ กำลังจะเสนอกรมปศุสัตว์ถัดจาก 3 เดือนนี้ (อาจจะเท่ากับ 15,000 ตันต่อปี-ไม่รวมหนัง) ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณความต้องการที่ต้องนำเข้าเพิ่มเติม เพื่อตั้งเป็นโควตารวมกับประเทศอื่นๆ ด้วย

ทั้งนี้เนื่องจาก กรณี MRL ของ CODEX ที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรมีการฟ้องร้องภาครัฐและเจ้าหน้าที่รัฐในประเด็นนี้อยู่ ดังนั้นสหรัฐจึงต้องเคารพกระบวนการยุติธรรมไทยที่ยังไม่ยุติ นอกจากนี้การที่ไทยถือปฏิบัติระบบกฎหมายระหว่างประเทศแบบทวินิยมจึงต้องให้เรื่องนี้ชัดเจนก่อน เท่ากับว่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงจึงยังคงต้องห้ามสำหรับประเทศไทย

นี่คือสิ่งที่ผู้เลี้ยงหมูพอจะทำเพื่อประเทศชาติได้ในเวลานี้ แม้จะเสี่ยงต่อความล่มสลายของอุตสาหกรรมจากการเปิดประตูบ้านยอมรับให้เครื่องในหมูสหรัฐเข้ามาทำตลาดในไทยได้ก็ตาม แต่ทั้งหมดก็เพื่อลดข้ออ้างเรื่อง GSP ที่สหรัฐพยายามนำมากดดันไทย