โดย…ดลมนัส กาเจ
ผ่านไปด้วยดีสำหรับการพบปะและเสวนาร่วมระหว่างสมาพันธ์นักข่าวเกษตรนานาชาติ(IFAJ) ที่พานักข่าวสายเกษตรจาก 12 ประเทศ กับสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย (AMMAT) ภายใต้หัวข้อเสวนา “แลกเปลี่ยนความรู้สื่อสายเกษตรไทย-นานาชาติ” ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศน์ 50 ปีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 โดยมี บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด(เมล็ดพันธุ์ตราศรแดง) เป็นเจ้าภาพจัดงานนี้ และได้รับสนับสนุนด้านงบประมาณจากบริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จํากัด
ผลการเสวนาของ 2 องค์กรสื่อมวลชนสายเกษตรในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ที่ได้ยกระดับในการขยายเครือข่ายสู่ระดับนานาชาติ เพราะผลของการหารือในครั้งนี้ได้มีการตกลงในหลักการในเบื้องต้น “เราจะร่วมมือในการผลิตคอนเทนต์ด้านข่าวสารด้านการเกษตรให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพที่มีความเชื่อถือได้ในระดับสากล” ทั้งนี้ทางสมาพันธ์นักข่าวเกษตรนานาชาติ มีความยินดีที่จะรับสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย เป็นสมาชิกสมาพันธ์นักข่าวเกษตรนานาชาติอย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป
คุณสตีฟ เวอร์โบล (Steve Werblow) ประธานสมาพันธ์นักข่าวเกษตรนานาชาติ(IFAJ) บอกว่า การเสวนาในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสื่อเกษตรนานาชาติกับสื่อเกษตรไทย ที่ได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับเทรนด์ของสื่อเกษตรในปัจจุบันรวมถึงอนาคต และความท้าทายของสื่อเกษตรที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปใช้ทางด้านโซเชียลมีเดีย แทนการรายงานข่าวเกษตรในอดีต
ด้านคุณภิญโญ แพงไธสง นายกสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรวมตัวของสื่อเกษตรนานาชาติและไทยในวันนี้ ทำให้เราได้มีการเชื่อมต่อกับเพื่อนร่วมงานสายอาชีพเดียวกันจากต่างประเทศ ทำให้เราได้รับมุมมองใหม่ ๆ และนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาสื่อเกษตรของไทย ทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย ได้รับข่าวสารที่ถูกต้องและเชื่อถือได้“
ขณะที่คุณอาภา วิศวพิพัฒน์ หัวหน้างานฝ่ายการตลาด อีสท์ เวสท์ ซีด กล่าวว่า เมล็ดพันธุ์ตราศรแดง เราภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าภาพร่วมในการเสวนานี้ เพราะเราเชื่อว่าสื่อเกษตรมีบทบาทสำคัญต่อเกษตรทั่วโลก รวมทั้งไทยด้วย สื่อเป็นช่องทางในการส่งต่อความรู้ที่เป็นประโยชน์ให้กับเกษตรกร เช่น นวัตกรรมเกษตร เทรนด์ความรู้ใหม่ ๆ วันนี้เราได้เรียนรู้ความสำเร็จของการทำสื่อ ความท้าทายที่สื่อเกษตรทั่วโลกต้องเจอ ดังนั้นสิ่งที่เหล่าได้เรียนรู้ในวันนี้ เราจะนำสิ่งเหล่านี้ไปปรับใช้กับเกษตรกร เพื่อให้แน่ใจว่าเกษตรกรจะได้รับข่าวสารเกษตรที่ถูกต้อง ทันสมัย และทันเหตุการณ์
ในการเสวนาในครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันภายใต้ 3 หัวข้อ คือ เทรนด์ของการรับข่าวเกษตร ความท้าทายและเรื่องราวความสำเร็จของการทำสื่อสายเกษตร โอกาสความร่วมมือของสื่อเกษตรไทยและนานาชาติ โดยมีนักข่าวเกษตรแต่ละประเทศมีความเห็นตรงกันว่าสื่อทางด้านโซเชียลมีเดีย มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการเข้าถึงเกษตรกรรุ่นใหม่ แต่ในบางพื้นที่สื่อแบบดั้งเดิม เช่นนิตยสาร วิทยุ ยังมีความสำคัญอยู่
นอกจากนี้ยังมีการยกกรณีศึกษาที่แสดงถึงวิธีการสื่อสารที่ประสบความสำเร็จในการเข้าถึงเกษตรกร เช่น วีดีโอ และวิทยุชุมชน ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดี สำหรับความร่วมมือระหว่างสื่อเกษตรไทยและสื่อเกษตรนานาชาติ ในการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ต้องขอขอบคุณ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด(เมล็ดพันธุ์ตราศรแดง) ที่เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมดีๆในครั้งนี้ และบริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จํากัด ที่ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในจัดกิจกรรมในครั้งนี้ และหวังว่าเราคงมีกิจกรรมดีๆร่วมอย่างนี้อีกในโอกาสต่อไป