เล่าเรื่อง : ตอนตะลุยแดนน้ำหอม เข้าชมโรงงานผลิตแทรคเตอร์ “แมสซี่” ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดลมนัส กาเจ

ได้มีโอกาส ไปดูงานและทำข่าวงาน “แสดงสินค้านานาชาติทางด้านธุรกิจการเกษตรแบบครบวงจร อย่างมืออาชีพ หรือ “ซีมา ปารีส” ณ ศูนย์แสดงสินค้า ปารีส นอร์ท ลิลพัลท์ ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสมา 2 ครั้ง และได้มีโอกาสไปชมโรงงานการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร “แมสซี่ เฟอร์กูซัน” (Massey Ferguson) หรือที่เรียกกันติดปากว่า “แมสซี่” ของบริษัท แอ็กโค ยัวร์ อะกริคัลเจอร์ คัมพานี่ จำกัด หรือเรียกง่ายๆ ว่า “แอ็กโค” อยู่ในเขตอุตสาหกรรมพิคาร์ดี้ เมืองโบวเวย์ ห่างจากกรุงปารีสราว 75 กม. เพื่อเข้าชมกิจกรรมด้านการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศฝรั่งเศส

ก่อนเข้าไปชมงานนั้น ได้รับการประสานงานจากบริษัทแอ็กโค ที่แจ้งมาว่า มีเงื่อนไขในการดูงานและทำข่าวในครั้งนี้ด้วยการขอสงวนการบันทึกภาพด้านหน้าของบริษัท และแผนกการผลิตต่างๆ ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เพราะถือว่าเป็นความลับของบริษัท แต่จะอนุโลมให้ถ่ายภาพบางจุด เช่นด้านในของโชว์รูมเล็กๆ ภายในอาคารที่เป็นสำนักงาน ที่มีเครื่องจักรการเกษตรภายใต้แบรนด์ แมสซี่ ตั้งแต่รุนแรกจนถึงปัจจุบันโชว์อยู่จำนวนหนึ่ง

บริษัท แอ็กโค จำกัด ผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร “แมสซี่” เป็นบริษัทข้ามชาติจากประเทศสหรัฐอเมริกา ไปลงทุนในฝรั่งเศสเพื่อผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรเน้นที่รถแทรกเตอร์ 99 เปอร์เซ็นต์ มีขนาดและรุ่นต่างๆ ภายใต้รหัสหรือรุ่น “เอฟเอ็ม” อาทิ เอฟเอ็ม 480 (FM480) ตั้งแต่ขนาด 80-400 แรงม้า มาตั้งแต่ปี 1994 ปัจจุบันเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรรายใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังผลิตรถแทรกเตอร์สีน้ำเงินภายใต้แบรนด์ อีซิกิ ขนาดเล็กตั้งแต่ 80-150 แรงม้าเพื่อส่งออกในตลาดเอเชีย ในแต่ละปีจะผลิตรถแทรกเตอร์สีน้ำเงินปีละกว่า 1 หมื่นคัน

พอไปถึงสำนักงานบริษัท แอ็กโค มีเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่ง ตอนนั้นนายยอร์น มัคซอกส์ เป็นผู้จัดการประจำออฟฟิศ คอยตอนรับ หลังจากได้ชมวิดีโอฟรีเซ็นต์แล้ว นายฌอน ครอร์ท เรนัล เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์พาคณะของเราเข้าชมแผนกการผลิตทุกขั้นตอน แต่ห้ามบันทึกภาพทุกชนิด

เขา  เล่าระหว่างที่เดินเข้าไปในโรงงานว่า โรงานแห่งนี้แบ่ง 2 ส่วนเพื่อผลิตเครื่องจักรกลแมสซี่ ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ที่ผลิตมาจากภายนอก ใช้พื้นที่กว่า 5,000 ตารางเมตร และอีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนของการประกอบหลังคาในพื้นที่กว่า 5,000 ตารางเมตรเช่นกัน

“โรงงานของเราใช้แรงงานทั้งหมด 2,300 คนในจำนวนนี้เป็นวิศวกรจำนวน 40 คน โดยแต่ละคนจะทำงานคนละ 7 ชั่วโมง อีกส่วนหนึ่งจะใช้หุ่นยนต์ในการทำงานแต่ไม่มากนัก จะเน้นเฉพาะแผนกที่อันตราย เดิมที่ทางโรงงานมีกำลังผลิตแทรกเตอร์วันละ 100 คัน แต่ปัจจุบันทั้งยุโรปเอง และอเมริกา รวมถึงเอเชียที่เป็นลูกค้า ต่างประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ยอดผลิตเหลือเพียงวันละ 60 คันเท่านั้น”(ตอนนั้น) เขา กล่าว

เขา บอกด้วยว่า การผลิตรถแทรกเตอร์เพื่อการเกษตรไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้อะไหล่ที่เป็นส่วนประกอบในแต่ละคันมีถึง 3,000 ชิ้น และการทำงานจะควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์เป็นผู้ตรวจสอบว่าอะไหล่แต่ละชิ้นครบหรือไม่ ทุกวันนี้แม้บริษัท แอ็กโค จะเป็นของบริษัทข้ามชาติมาลงทุนในประเทศฝรั่งเศส แต่คนฝรั่งเศสส่วนใหญ่มีความภาคภูมิใจ ที่ฝรั่งเศสมีโรงงานผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดใหญ่เพื่อส่งออก และสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล เพราะเครื่องจักรกลทั้งหมดส่งออกถึง 85 เปอร์เซ็นต์

นอกจากบริษัทแอ็กโค จะมีฐานผลิตในฝรั่งเศสแล้ว ยังมีการขยายฐานผลิตไปยังภูมิภาคอื่นด้วย อาทิ ในยุโรปที่อังกฤษ เยอรมนี เนเธฮร์แลนด์ สวีเดน ส่วนที่อเมริกา ที่บราซิลมี 2 แห่ง ในเอเชียที่จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น ขณะที่ประเทศไทยก็มีตัวแทนจำหน่ายด้วยคือบริษัท แองโกล-ไทย จำกัด

ใช้เวลาราว 3 ชั่วโมงกับการเดินชมโรงผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร “แมสซี่” จนถึงก่อนเที่ยงเล็กน้อยเราอำลาเขตอุตสาหกรรมพิคาร์ดี้ เมืองโบวเวย์ มุ่งหน้าสู่ปารีสอีกครั้ง ก่อนจะอำลาฝรั่งเศสในวันรุ่งขึ้น