ไทยคว้าเป็นเจ้าภาจัดงานมพหกรรมพืชสวนโลก ระดับ A1 “โคราช เอ็กซ์โป 2029” คาดเงินสะพัดกว่า 2 หมื่นล้าน

  •  
  •  
  •  
  •  

ไทยคว้าชัย เป็นเจ้าจัดงาน มหกรรมพืชสวนโลก ระดับ A1  ” โคราช เอ็กซ์โป 2029″ ที่จังหวัดนครราชสีมาในปี 2572 ภายใต้แนวคิด “ธรรมชาติและพรรณพืชเขียวขจี อนาคตแห่งโลกสีเขียว” คาดเงินสะพัดกว่า 20,000 ล้าน และสร้างงาน 36,003 อัตรา

นางสาวอัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี และมติการประชุมคณะกรรมการบริหารการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมจัดนิทรรศการในงาน Expo 2023 Doha ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่2 ตุลาคม 2566 – 28 มีนาคม 2567

โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการจัดนิทรรศการดังกล่าว พร้อมเข้ายื่นประมูลสิทธิ์ การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572  ซึ่งการประชุมสามัญใหญ่คณะกรรมการพืชสวนโลก AIPH ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ได้มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก Horticulture World Expo ระดับ A 1 ที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 (International Horticultural Expo) หรือ “โคราช เอ็กซ์โป 2029”

ภายในงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 ภายใต้แนวคิด “ธรรมชาติและพรรณพืชเขียวขจี อนาคตแห่งโลกสีเขียว” (Nature & Greenery: Envisioning the Green Future) จะเป็นการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้านพืชสวนโลกที่ทันสมัย โดยเป็นการผสมผสานนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น เน้นความก้าวหน้าในด้านเกษตรกรรมที่ยั่งยืน การทำสวนแนวตั้ง และการผลิตอาหารสำหรับอนาคการปรับปรุงพันธุ์พืช การปลูกป่าในเมือง และภูมิทัศน์ที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้มาเยือนและผู้เข้าร่วมงานให้หันมาใช้วิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้านเกษตรกร และชุมชนเกษตรกรรมในท้องถิ่น จะเกิดประโยชน์ในด้านการส่งเสริมการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร และการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรต่อไป

ทั้งนี้ รัฐบาลไทย และกระทรวงเกษตรฯ มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะผลักดันความสำเร็จของงานมหกรรมพืชสวนโลกในปี 2572 ณ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยศักยภาพอันโดดเด่นทั้งด้านประวัติศาสตร์ ความชำนาญในด้านเกษตรกรรม และทางชีวภาพ ซึ่งคาดการณ์ว่า งานนี้เงินสะพัดกว่า 20,000 ล้านบาท เพิ่ม(GDP) ในประเทศ 9,163 ล้านบาท รายได้จัดเก็บภาษีประมาณการ 3,429 ล้านบาท และสร้างงาน 36,003 อัตรา