9 เรื่องน่ารู้  “นนทรีทรงปลูก” กับความผูกพันของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

  •  
  •  
  •  
  •  

เนื่องในวาระครบรอบ 60 ปี “วันที่ระลึกวันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด สืบสานวันทรงดนตรี”   วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯมาทรงปลูกต้นนนทรี จำนวน 9 ต้น  อันเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ บริเวณสระน้ำด้านหน้าหอประชุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายหลังจากนั้น ทั้งสองพระองค์ เสด็จฯเข้าสู่หอประชุม เพื่อทรงดนตรีร่วมกับวง อ.ส.วันศุกร์ และ วงดนตรี  KU band (เข้าร่วมบางส่วน) เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2506 เวลา 15.30 น. โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ นิสิตปัจจุบัน นิสิตเก่า และคณาจารย์เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด

ต้นนนทรี มีความสำคัญอย่างไร ทำไมจึงเป็นนนทรี ที่มาของการจัดงาน “วันที่ระลึกวันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด สืบสานวันทรงดนตรี” และประวัติศาสตร์ ที่อยู่ในความทรงจำของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวบรวมไว้เป็น 9 เรื่องน่ารู้ “นนทรีทรงปลูก” กับความผูกพันของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดังนี้

1.รู้จักต้นนนทรี : ต้นนนทรี เป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียภาคตะวันออกและภาคใต้ รวมไปถึงประเทศศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทยจนไปถึงประเทศฟิลิปปินส์ และทวีปออสเตรเลียตอนเหนือ โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มทรงเรือนยอดแผ่กว้างเป็นรูปร่มหรือเป็นทรงกลมกลาย ๆ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมสีดำ เปลือกค่อนข้างเรียบ และอาจแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ขึ้นได้ในดินทั่วไป ชอบความชื้นปานกลาง และแสงแดดเต็มวัน เป็นต้นไม้ที่มักผลัดใบเมื่อมีอากาศแห้งแล้ง

นนทรี ชื่อสามัญ Copper pod, Yellow flame, Yellow Poinciana (นนทรี อ่านว่า นน-ซี)

นนทรี ชื่อวิทยาศาสตร์ Peltophorum pterocarpum (DC.) K.Heyne จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)

2.ทำไมจึงเป็นต้นนนทรี : ต้นนนทรี (Peltophorum  pterocarpum) ถือเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๖   สืบเนื่องจากการประชุมสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๐๖ คณะอนุกรรมการพิจารณาหาต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์อัญเชิญ  ชมภูโพธิ์  หัวหน้าภาควิชาพืชศาสตร์    อาจารย์ปวิณ  ปุณศรี  อาจารย์แสงธรรม  คมกฤส     และอาจารย์เจือ  สุทธิวนิช ได้เสนอต้นไม้ ๔ ชนิด ต่อที่ประชุม คือ นนทรี  ทองกวาว ราชพฤกษ์ (คูน) และพิกุล  ที่ประชุมสรุปเลือกต้นนนทรี  เพราะเป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืน มีใบสีเขียวแก่ อันหมายถึง สีเขียวขจีของเกษตร  และมีดอกสีเหลืองทอง อันหมายถึง สีเหลืองของคณะเกษตร  ดังปรากฏในคำกราบบังคมทูลของคุณหลวงอิงคศรีกสิการ (อินทรี  จันทรสถิตย์) ในฐานะอธิการบดี มีใจความสรุปดังนี้

“ต้นนนทรี เป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนยาวนาน มีใบเขียวตลอดทั้งปี ลักษณะใบเป็นฝอยคล้ายใบกระถิน ดอกสีเหลืองประปรายด้วยสีขาว ช่อดอกเป็นพวงระย้า ฝักไม่ยอมทิ้งต้น ทนทานในทุกสภาพอากาศของเมืองไทย  สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้เลือกให้เป็นต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  เพื่อแสดงว่า นิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น มีใจผูกพันอยู่กับมหาวิทยาลัยตลอดมา  และสามารถจะทำงานประกอบอาชีพได้ทั่วทุกหนทุกแห่ง  ทั้งในไร่นาป่าเขา ทั่วทั้งประเทศไทย”

3.ที่มาวันนนทรีทรงปลูก : พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงปลูกต้นนนทรี ซึ่งเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน ๙ ต้น บริเวณหน้าหอประชุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จารึกไว้ในดวงจิตของชาวเกษตรศาสตร์อย่างมิมีวันลืม ในคราวเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น มีพระมหากรุณาธิคุณทรงดนตรีที่หอประชุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นครั้งแรกด้วย อันนำมาสู่การเสด็จ “เยี่ยมต้นนนทรี” ที่ทรงปลูก และ “ทรงดนตรี” สืบเนื่องอีก 9 ครั้ง นับจากปี พ.ศ. 2506 จนถึงปัจจุบัน ต้นนนทรีทั้ง 9 ต้น นับว่าเป็นต้นนนทรีขนาดใหญ่ที่หาพบได้ยากในกรุงเทพมหานคร และสร้างความร่มรื่นให้แก่พื้นที่บริเวณหน้าหอประชุมเป็นอย่างยิ่ง

4.ตำแหน่งต้นนนทรีทรงปลูก : ในการปลูกต้นนนทรีทั้ง 9 ต้น ณ บริเวณด้านหน้าหอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในวันนั้น ศาสตราจารย์คุณชวนชม จันทรเปารยะ ผู้อยู่ในเหตุการณ์ให้ข้อมูลว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงวางต้นนนทรีลงในหลุม สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงช่วยพลุ้ยดินกลบหลุมแล้วทั้งสองพระองค์ทรงช่วยกันรดน้ำจนครบทั้ง 9 ต้น โดยต้นแรกที่ทรงปลูกคือต้นที่อยู่ติดถนนงามวงศ์วานในปัจจุบันเรียงลำดับต่อเนื่องมาจนครบ 9 ต้น

5.พระราชดำรัสวันนนทรีทรงปลูก : วันศุกร์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๖ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปลูกต้นนนทรี จำนวน ๙ ต้น บริเวณหน้าอาคารหอประชุม พร้อมกันนี้ได้มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งเกี่ยวกับต้นนนทรี ความว่า

“ขอพูดอะไรสักหน่อย  วันนี้ได้รับเชิญมาปลูกต้นไม้ ก็ทำให้คิดว่า การปลูกต้นไม้ก็จำเป็นจะต้องเลือกว่าต้นอะไรจึงจะดี เหมาะสำหรับมหาวิทยาลัย

ต้นไม้อะไรๆ ก็สีเขียว ต้นนนทรีที่เลือกเป็นต้นไม้ของเกษตร ก็เหมาะสมที่มีสีเขียวด้วย เหมาะมากและน่ายินดีมากที่ต้นนนทรีนั้นปลูกได้ทั่วทุกแห่งของไทย เพราะทนแล้ง ทนแดดได้ นี่เป็นความหมายที่ดี  เพราะคนไทยถ้าปลูกในแผ่นดินไทยก็เติบโตดีและเจริญดี ต้นไม้ต้องมีดิน จึงจะเจริญได้ดี ถ้าเอาไปใส่ในกระถาง หรือเอาไปปลูกในน้ำ หรือปลูกในน้ำยาคุณภาพดีๆ จากต่างประเทศ  ก็จะหงอยอยู่ไม่ได้  เขาต้องการดิน

ขอฝากต้นไม้นี้ให้มหาวิทยาลัยและนิสิตช่วยกันรักษาให้ดี อย่าให้หงอย ขอฝากนิสิตทั้งหลายขอให้ช่วยกันรักษาตัวเองให้ดี และอย่าลืมว่าตัวเองนั้นจะอยู่กันได้ก็ด้วยแผ่นดินไทย  ขอให้ช่วยกันรักษาแผ่นดินไทยไว้ด้วย  คนไทยถ้าไร้แผ่นดินก็จะหงอยกันหมด อยู่กันไม่ได้  และเราก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น

6.คุณประโยชน์ของต้นนนทรี :  ต้นนนทรีเป็นพันธุ์ไม้โตเร็ว ปลูกง่าย มีความแข็งแรงทนทาน มีรูปทรงของต้นและมีดอกที่สวยงาม ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ จึงเหมาะสำหรับนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารสถานที่ต่าง ๆ สวนสาธารณะ รีสอร์ท ริมทะเล ริมถนน ทางเดิน หรือที่จอดรถ ใช้ปลูกเพื่อให้ร่มเงาและป้องกันลมได้ดี ใช้เป็นร่มเงาในสวนกาแฟได้ดีมาก เพราะเป็นไม้ตระกูลถั่ว จึงช่วยบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ขึ้น ยอดและฝักอ่อน ใช้เป็นอาหารประเภทผักเหนาะ ให้รสชาติฝาดมัน เปลือกต้นเมื่อนำไปต้มจะให้สีน้ำตาลอมเหลือง ซึ่งนำมาใช้ในการย้อมผ้าฝ้ายบาติก หรือใช้พิมพ์ผ้าปาเต๊ะ ใช้ย้อมแหและอวน เนื้อ ไม้นนทรีมีสีน้ำตาลอมสีชมพู เป็นมันเลื่อม เสี้ยนไม้ตรงหรือเป็นคลื่นบ้าง เนื้อไม้มีความหยาบปานกลาง เลื่อยผ่าไสกบตบแต่งได้ง่าย มอดปลวกไม่กิน ใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือนได้เป็นอย่างดี เช่น ทำพื้น เพดาน ฝา รอด ตง อกไก่ หรือใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องเครื่องใช้ ทำหีบ พานท้ายปืน คันไถ ฯลฯ หรือใช้เผาทำถ่าน อีกทั้งยังเชื่อว่าเป็นไม้มงคลอีกด้วย

7.นนทรีทรงปลูกอีก 2 ต้นที่ชาวเกษตรพึงจดจำ : นอกจากต้นนนทรีทรงปลูกทั้ง 9 ต้นที่หน้าหอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว ยังมีต้นนทรีอีก 2 ต้นที่ทรงคุณค่าต่อมหาวิทยาลัยได้แก่ ต้นนนทรีที่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ  เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงปลูกเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 ขณะพระองค์ทรงศึกษาในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยู่บริเวณทิศตะวันตกของอนุสาวรีย์หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ และต้นนนทรีที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกเมื่อ พ.ศ. 2523 เมื่อครั้งทรงเปิดศูนย์ปฏิบัติการวิจัยที่วิทยาเขตกำแพงแสน

8.เพลงพระราชนิพนธ์ “เกษตรศาสตร์” : เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ : พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์ นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบันของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด  และพระราชทานเลี้ยงอาหารเย็น ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต  พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ “เกษตรศาสตร์” แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ซึ่งในเวลานั้นมีเพียงทำนองยังไม่มีเนื้อร้อง จึงเรียกว่าเพลง K.U. Song ไปก่อนในระยะแรก และต่อมา ศ.ดร. ประเสริฐ  ณ นคร ได้เป็นผู้แต่งเนื้อร้องให้)  และทรงดนตรีร่วมกับวง อ.ส. วันศุกร์ในคราวนั้นด้วย

9. ครั้งแห่งการเสด็จเยี่ยมต้นนนทรีทรงปลูก : นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ – ๒๕๑๕ :พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมายังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  เพื่อทรงปลูกต้นนนทรี ทรงเยี่ยมต้นนนทรี และทรงดนตรี  รวมทั้งสิ้น ๙ ครั้ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ต่อชาวเกษตรศาสตร์ทั้งปวงมาจนปัจจุบัน

  • 30 พฤศจิกายน  2507
  • 13 ธันวาคม 2508
  • 17 ธันวาคม 2509
  • 28 พฤศจิกายน  2510
  • 30 พฤศจิกายน  2511
  • 29 พฤศจิกายน  2512
  • 9 กุมภาพันธ์ 2514
  • 13 พฤศจิกายน  2514
  • 18 พฤศจิกายน  2515

ข่าวโดย… ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์