ดลมนัส กาเจ
หลังจากอำลาท้องทุ่งนาที่เต็มไปด้วยความแห้งแล้ง มุ่งหน้าสู่เมืองกรุง หวังว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการเสนอตัวเป็นมนุษย์เงินเดือนในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งมายานานกว่าทศวรรษ ในที่สุดหนุ่มใหญ่วัย 49 ปี “ศศเศรษฐโชค ตามพระหัตถิ์” หรือ “โชค” ตัดสินใจหวนกลับถิ่นสู่ท้องนาที่หมู่ 6 ต.หนองไผ่ อ.หนองขาหย่าง จ.อุทัยธานีอีกครั้ง
ด้วยความหวังที่นำพื้นที่นาซึ่งเป็นที่มรดกกว่า 60 ไร่มาพัฒนาทำเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 เริ่มนำร่องก่อน 5 ไร่ในปี 2552 ผลที่ได้มาแม้จะมีรายได้ในเบื้องต้นไม่มาก แต่ด้วยไม่มีหนี้สิน อยู่อย่างประหยัดแทบจะไม่ใช้เงินในแต่ละวันทำให้เขาอยู่ได้อย่างสบาย
ล่าสุดได้นำพื้นที่ 6 ไร่ ทำเป็น “โคก หนอง นา” 2 แปลง เป็นแปลงละ 3 ไร่ ภายใต้ชื่อ“โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง” ได้รับสนับสนุนเงินทุนจากพัฒนาชุมชุนจังหวัดอุทัยธานี นอกจากนี้ได้รับสนับสนุนเงินสินเชื่อในโครงการพลังงานโซล่าเซลและโครงการขุดเจาะน้ำบาดาลในแปลงจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ด้วย
เมื่อเร็วๆนี้ทาง ธ.ก.ส.ได้นำคณะทั้งจากส่วนกลางและสาขาในพื้นที่ฝ่าเปลวแดดตะลุยในพื้นที่โครงการ เพื่อติดตามความคืบหน้า ซึ่ง “เกษตรทำกิน” ได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปคณะในครั้งนี้ด้วย และระหว่างที่นั่งท้ายกระบะ รถยนต์ปิคอัพ อรุณ ตั้งประเสริฐ ผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.สาขาอุทัยธานี เล่าว่า เดิมทีพื้นที่ตรงนี้เป็นนาข้าว เป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวรอรายได้เป็นปี แต่ตอนนี้ได้มีการพลิกที่นาทำเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ ปลูกพืชผสมผสานทำให้มีรายได้ตลอดปีและนายโชค เป็นที่มีความตั้งในในการทำงาน มีการทำแผนพัฒนาอาชีพอย่างชัดเจน ทาง ธ.ก.ส.จึงสนับสนุนโครงการนี้ เพราะนายโชคถือว่า เป็น Smart New Gen จังหวัดอุทัยธานี ภายใต้การสนับสนุนของ ธ.ก.ส.อีกรายหนึ่ง (รายละเอียดในคริป)
โชค เล่าว่า ปัจจุบันการพัฒนาพื้นที่นาเก่าทำเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่เพิ่มขึ้น แบ่งพื้นที่เป็นสระและบ่อน้ำน้ำ 8 บ่อในพื้นที 10 ไร่ ปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล 5 ไร่ ทำนา 35 ไร่เน้นข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าวเหนียวกล่ำ ซึ่งมีการเพิ่มมูลค่าผลผลิต ด้วยการทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว เช่น แป้งข้าวหมาก ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วย เช่น กล้วยฉาบ กล้วยอบน้ำผึ้งผลิตภัณฑ์น้ำอ้อยคั้นสด รวมถึงผลผลิตด้านปศุสัตว์ ทั้งเป็ด ไข่ นอกจากนี้เลี้ยงควาย 20 ตัว มีเป็ด ไก่ไข่ เลี้ยงปลาดุก ปลาเบญจพรรณ อีกจำนวนหนึ่ง
“แรกๆที่ทำก็ลำบากเหมือนกันเพราะที่ตรงนี้เป็นดินที่แห้งแล้ง เป็นดินปนทราย เราต้องจัดหาแหล่งน้ำให้ชุ่มชื่น ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ไข่ ให้มีรายได้เร็ว เลี้ยงควาย ทำนา ตอนนี้ทำให้เรามีรายได้รายวันจากไข่เป็ด ไข่ไก่ พืชผัก เรามีรายได้เป็นรายเดือนจากปลา เรามีรายได้เป็นรายปีจากข้าว และควาย ซึ่งข้าวกับควายถือว่าสร้างรายได้มากที่สุด ส่วนโคก หนอง นา เพิ่งเริ่มต้นเพียงปีเดียว ต่อไปต้องปลูกไม้ผล เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ และที่ตรงนี้นอกจากจะเป็นศูนย์เรียนรู้แล้ว ยังจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเษตรอีกด้วย” โชค กล่าว
ไปมาแล้ว “โคก หนอง นา”อุทัยธานี
สำหรับ “โชค-โคกหนองนา” อุทัยธานี โชค บอกว่า ที่ต้องอาศัยสรรพกำลังมากมาย กว่าจะทำให้ทุกอย่างออกมาสวยงาม อย่างพื้นที่ 3 ไร่ ที่ทำโคกหนองนา ต้องขุดบ่อลึก 6 เมตร เอาดินที่ขุดจากบ่อนำขึ้นมาถมพื้นที่ จะเป็นดินที่เรียกว่า ดินเลนผสมกรวด พอแห้งแล้วน้ำจะไม่ซึมแห้งแล้วจะเหมือนปูนเลย โดยปลูกหญ้าแฝก จะช่วยไม่ให้น้ำไม่ซึมผ่าน ซึ่งซึ่งมีบางคนเจอปัญหาคือขุดบ่อเอาดินขึ้นมาถมแล้ว ปลูกอะไรไม่ได้ และไม่รู้จะทำอย่างไร จึงทำให้ท้อและเลิกไปในที่สุด จึงได้แนะนำให้ใช้วิธีการปรับปรุงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช เช่น การใส่ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก เพื่อปรับโครงสร้าง และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน การใช้วิธีการห่มฟาง เป็นต้น เมื่อดินเรามีความอุดสมบูรณ์แล้ว จะทำให้ต้นพืชสามารถเจริญเติบโตได้ดีนั่นเอง
เขา ได้เล่าถึงหลังจากที่ได้รับการสนับสนุนจาก ธ.ก.ส.ด้วยว่า ทาง ธ.ก.ส.ให้โอกาสหลายอย่าง ไม่ว่า การสนับสนุนด้านการเพิ่มพูดความรู้ ด้วยการส่งเข้ารับการอบรมในโครงการต่างๆ ของ ธ.ก.ส. ทำให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากวิทยากร มาต่อยอดการประกอบอาชีพได้ และการสนับสนุนด้านเงินทุนจากโครงการช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาลผ่าน ธ.ก.ส. เช่น สินเชื่อพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อผู้ประสบภัยแล้ง สินเชื่อ Green Credit ผ่านพันธบัตร Green Bond ปลาในนาข้าว เป็นต้น