โดย…ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุล เดชมหาราช บรมนาถบพิตร “58 ปี วันที่ระลึก วันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด สืบสานวันทรงดนตรี” วันที่ 29 พฤศจิกายน วันทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้สืบสานพระราชปณิธานตามพระราชดำรัสจะรักษาต้นนนทรีทรงปลูก ให้มีสุขภาพแข็งแรง และให้อยู่คู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตลอดไป
วันนนทรีทรงปลูก
“ ขอพูดอะไรสักหน่อย วันนี้ได้รับเชิญมาปลูกต้นไม้ ก็ทำให้คิดว่า การปลูกต้นไม้ ก็จำเป็นจะต้องเลือกว่าต้นอะไรจึงจะดี เหมาะสำหรับมหาวิทยาลัย ต้นไม้อะไรๆ ก็สีเขียว ต้นนนทรีที่เลือกเป็นต้นไม้ของเกษตร ก็เหมาะสมที่มีสีเขียวด้วย เหมาะมากและน่ายินดีมาก ที่ต้นนนทรีนั้นปลูกได้ทั่วทุกแห่งของไทย เพราะทนแล้ง ทนแดดได้ นี่เป็นความหมายที่ดี เพราะคนไทยถ้าปลูกในแผ่นดินไทย ก็เติบโตดี และเจริญดี ต้นไม้ต้องมีดิน จึงจะเจริญได้ดี ถ้าเอาไปไว้ในกระถาง หรือเอาไปปลูกในน้ำหรือปลูกในน้ำยาคุณภาพดีๆ จากต่างประเทศ ก็จะหงอย อยู่ไม่ได้ เขาต้องการดิน ขอฝากต้นไม้นี้ให้มหาวิทยาลัยและนิสิตช่วยกันรักษาให้ดี อย่าให้หงอย ขอฝากนิสิตทั้งหลาย ขอให้ช่วยกันรักษาตัวเองให้ดี และอย่าลืมว่าตัวเองนั้นจะอยู่กันได้ก็ด้วยแผ่นดินไทย ขอให้ช่วยรักษาแผ่นดินไทยไว้ด้วย คนไทยถ้าไร้แผ่นดินก็จะหงอยกันหมด อยู่กันไม่ได้ และเราก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น ”
ความตอนหนึ่งของพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในคราวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น อันเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ บริเวณสระน้ำ ด้านหน้าหอประชุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 เวลา 15.30 นาฬิกา ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยนายธวัชชัย ไชยชนะ นายกสมาคมนิสิตเก่า ฯ และ หลวงอิงคศรีกสิการ (อินทรี จันทรสถิตย์) อธิการบดี เป็นผู้กราบบังคมทูลถวายรายงาน พระราชดำรัสนั้นยังคงดังกึกก้องและตราตรึงอยู่ในความทรงจำของชาวเกษตรศาสตร์ตราบจนถึงทุกวันนี้
ในคราวเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ นิสิตปัจจุบัน นิสิตเก่า และคณาจารย์เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปลูกต้นนนทรีเรียบร้อยแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่หอประชุม เพื่อทรงดนตรีร่วมกับวง อ.ส.วันศุกร์ และ วงดนตรี KU band เข้าร่วมบางส่วน ซึ่งมีอาจารย์ และศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย รวมอยู่ด้วย ได้แก่ อาจารย์ระพี สาคริก (นักดนตรีและโฆษก) ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล (โฆษก) และนายอวบ หมะรัชตะ เป็นต้น
นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในวันเดียวกัน กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปลูกต้นนนทรี และทรงดนตรี ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นการส่วนพระองค์ เป็นครั้งแรก และทรงเป็นกันเองอย่างที่สุด และยังเป็นที่มาของการเสด็จฯ “เยี่ยมต้นนนทรี” ที่ทรงปลูก” และ “ทรงดนตรี” สืบเนื่องมาจนถึงปีพ.ศ. 2515 รวมจำนวน 9 ครั้ง อันนำมาซึ่งความสุข ความปลื้มปิติอย่างยิ่งของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สืบสานวันทรงดนตรี
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมต้นนนทรีและทรงดนตรีเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2508 และในบางครั้งได้ทรงร่วมขับร้องเพลงและทรงดนตรีด้วย
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับพระราชทานพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จทรงดนตรีเนื่องในงาน “สืบสานวันทรงดนตรี” ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยทรงเครื่องดนตรีจีน (กู่เจิง) ร่วมกับวงดุริยางค์ราชนาวี จำนวน 2 เพลงคือ เพลงระบำเผ่าอี้ และเพลงเมฆตามพระจันทร์ จึงเป็นเหตุที่มาของการเพิ่มเติมชื่องานว่า “วันที่ระลึกวันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด สืบสานวันทรงดนตรี” ในปี พ.ศ. 2553 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีพระกรุณาธิคุณเสด็จทรงเครื่องดนตรีจีน (กู่เจิง) เป็นครั้งที่สองเมื่อวันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 โดยทรงเครื่องดนตรีจีน (กู่เจิง) ร่วมกับวงดุริยางค์ราชนาวี จำนวน 2 เพลงคือ เพลงเดือนเพ็ญ เพลงระบำเผ่าอี้ และเพลงลั่วฮ้วงเฟย ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับ ปี พ.ศ. 2554 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ งดจัดกิจกรรมงาน “วันที่ระลึกวันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด สืบสานวันทรงดนตรี” เนื่องจากพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุทกภัยใหญ่
ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับพระราชทานพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จทรงดนตรีเนื่องในงาน “วันที่ระลึกวันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด สืบสานวันทรงดนตรี” ในวันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 16.00 น. ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ต่อชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทำไมถึงเป็นต้นนนทรี (Peltophorum pterocarpum )
เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2506 สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย คณะอนุกรรมการพิจารณาหาต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์อัญเชิญ ชมพูโพธิ์ หัวหน้าภาควิชาพืชศาสตร์ อาจารย์ปวิณ ปุณศรี อาจารย์แสงธรรม คมกฤส และอาจารย์เจือ สุทธิวนิช ได้เสนอต้นไม้ 4 ชนิด ต่อที่ประชุม คือ นนทรี ทองกวาว ราชพฤกษ์ (คูน) และพิกุล ที่ประชุมได้ตกลงเลือกต้นนนทรี เพราะเป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืน มีใบสีเขียวแก่ อันหมายถึง สีเขียวขจีของเกษตร และมีดอกสีเหลืองทอง อันหมายถึง สีเหลืองของคณะเกษตร
ศาสตราจารย์อินทรี จันทรสถิตย์ อธิการบดี ได้กราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับต้นนนทรี สรุปใจความได้ว่า “ต้นนนทรี เป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนยาวนาน มีใบเขียวตลอดทั้งปี ลักษณะใบเป็นฝอยคล้ายใบกระถิน ดอกสีเหลืองประปรายด้วยสีขาว ช่อดอกเป็นพวงระย้า ฝักไม่ยอมทิ้งต้น ทนทานในทุกสภาพอากาศของเมืองไทย สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้เลือกให้เป็นต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อแสดงว่า นิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น มีใจผูกพันอยู่กับมหาวิทยาลัยตลอดมา และสามารถจะทำงานประกอบอาชีพได้ทั่วทุกหนทุกแห่ง ทั้งในไร่นาป่าเขา ทั่วทั้งประเทศไทย”
พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์เกษตรศาสตร์
เมื่อวันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์ นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบันของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน ประมาณ 3,000 คน เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด ทรงดนตรีร่วมกับวง อ.ส.วันศุกร์ และพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในครั้งนั้น ได้พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ “เกษตรศาสตร์” ให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับเพลงพระราชนิพนธ์ “เกษตรศาสตร์” ในเวลานั้นมีเพียงทำนองยังไม่มีเนื้อร้อง จึงเรียกว่า เพลง K.U. Song
“… เพลงของเกษตรนี้ก็ที่จริงก็ควรจะตัดสินเอาเองว่าเป็นอย่างไร แต่ความคิดส่วนตัวของผู้แต่ง รู้สึกว่าเป็นเพลงที่อ่อนหวาน อ่อนหวานกว่า ๒ เพลงโน้น แต่อ่อนหวานนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เข้มแข็ง แต่อ่อนหวานนี่ อาจจะมีความหมายได้ว่าผลิตผลของทางเกษตรนี่รวมทั้งผลไม้หรือสิ่งที่บริโภค ถ้าหวาน รู้สึกว่าดี เพราะว่าเขานิยมกันอย่างนั้น ข้าวโพดหวานเขาก็ชอบ ก็เลยคิดว่าเพลงหวานไม่เป็นไร แต่ถ้านำไปเดินสำหรับนำแถวก็อาจจะได้…”
ความตอนหนึ่งของพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเมื่อวันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2509
ต่อมาภายหลัง ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร อดีตรองอธิการบดีและนายกสภามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ คีตกวีเอกคนหนึ่งของประเทศไทย ผู้ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประพันธ์คำร้องเพลงพระราชนิพนธ์รวม 5 เพลง คือ เพลงใกล้รุ่ง ชะตาชีวิต ในดวงใจนิรันดร์ แว่ว และเกษตรศาสตร์ ท่านได้เล่าไว้ในเกร็ดการประพันธ์เนื้อเพลงพระราชนิพนธ์เกษตรศาสตร์ ว่า
“...เพลงนี้ก็ยังไม่มีเนื้อ ท่านก็รับสั่งว่า พวกเกษตรก็มีคนแต่งได้หลายคน ก็คงจะแต่งได้ไม่น้อยหน้ามหาวิทยาลัยอื่น หลังจากนั้นมา 8 เดือนได้ ก็มีรับสั่งถามว่า แต่งไปได้แค่ไหนแล้ว ผมก็กราบบังคมทูลว่ายังไม่ได้แต่ง เพราะว่ามีความไม่สบายใจอยู่หลายประการ ประการที่หนึ่ง คือ เมื่อตอนที่แต่งเพลงใกล้รุ่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นพระอนุชาธิราชอยู่ เพราะฉะนั้นผมก็แต่ง ใกล้รุ่ง เสร็จภายในครึ่งชั่วโมง แต่พอมาถึงเพลงเกษตรศาสตร์นี้ เป็นเพลงของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และประการที่สอง ก็เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยด้วย ประการที่สาม เมื่อไปดูว่าเพลงประจำมหาวิทยาลัย อย่างของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาก็แต่ง “ น้ำใจน้องพี่สีชมพู ทุกคนไม่รู้ลืมบูชา…” ก็รู้สึกว่าเขาแต่งไว้ดีมาก แต่ของเรา จะแต่งให้ใกล้เคียงกับเขา เข้าไปได้ไหม เมื่อมันมีความวิตก อยู่ถึง 3 อย่างก็เลยแต่งไม่ออก แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้รับสั่งถาม ผมก็มาแต่งเพลงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสร็จไปภายในเวลาครึ่งคืน เพลงนี้ก็รู้สึกว่าลำบากนิดหน่อย ก็เพราะว่าเพลงขึ้น ลง มาก ช่วงเสียงห่างกัน มันจะขึ้นๆ ลงๆ อย่างนั้น จึงต้องหาเนื้อที่จะให้เข้ากับทำนอง อย่างเช่น “ทุกแหล่งฟ้า หล้าอิ่มเอม” ใช้เวลาครึ่งคืน ก็ได้เพลงนี้ และก็ได้บรรจุข้อความที่ว่าเกษตรมีหน้าที่เลี้ยงโลกเหมือนอย่างที่เป็นคำรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า เกษตรมีหน้าที่เลี้ยงโลก…” ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร กล่าว
ชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้สืบสานพระราชปณิธานตามพระราชดำรัสจะรักษาต้นนนทรีทรงปลูก ให้มีสุขภาพแข็งแรง รักษาตนเองให้เข้มแข็ง และรักษาแผ่นดินไทยไว้ด้วยศาสตร์แห่งแผ่นดิน อันประกอบด้วย ศาสตร์พระราชา ศาสตร์ชุมชน และ ศาสตร์สากล ดังนั้น การจัดงาน วันที่ระลึก วันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด สืบสานวันทรงดนตรี จึงถือเป็นประเพณีสำคัญที่ชาวเกษตรศาสตร์จะพร้อมใจกันมาร่วมงาน โดยเฉพาะนิสิตชั้นปีที่ 1 เพื่อจะได้ทราบถึงประวัติศาสตร์ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้เสด็จ ฯ มาทรงปลูกต้นนนทรีและทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างปีพ.ศ.2506 – 2515 และเพื่อเชิดชูพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมทั้งถ่ายทอดความทรงจำอันประทับใจ ในวันประวัติศาสตร์ดังกล่าวให้นิสิตปัจจุบัน และผู้สนใจได้รับรู้ และสืบสาน งานวันที่ระลึกวันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด สืบสานวันทรงดนตรี วันที่ 29 พฤศจิกายน ให้อยู่คู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตลอดไป ซึ่งวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ตรงกับวาระครบรอบ 58 ปี วันที่ระลึกวันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด สืบสานวันทรงดนตรี