กรมวิชาการเกษตรชวนเที่ยวเชิงเกษตรสัมผัสธรรมชาติ เผยศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ฮอตที่สุด 

  •  
  •  
  •  
  •  

ศิริพร  วรกุลดำรงชัย

กรมวิชาการเกษตรชวนเที่ยวเชิงเกษตรสัมผัสธรรมชาติ พร้อมเติมเต็มความรู้ด้านเกษตรครบวงจรทั้ง 22 ศูนย์วิจัย ชี้แต่ละแห่งจะมีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่แวะเข้าไปเยี่ยมชมตามที่ชอบ เผยส่วนใหญ่ที่ได้ความนิยมมากที่สุดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตรคือ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่  จังหวัดเชียงใหม่

 

     นางสาวศิริพร  วรกุลดำรงชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวนกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์พืชจึงมีศูนย์วิจัยสำหรับดำเนินการการวิจัย ทดลอง พัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืช  ที่ตั้งอยู่ในแหล่งธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ  และภายในศูนย์วิจัยดังกล่าวมีแปลงการผลิตพืช   ขยายพันธุ์พืชแปลงต้นแบบทฤษฎีใหม่  รวมถึงแปลงรวบรวมและอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมพืชจำนวนมาก  จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ให้ความรู้ด้านการเกษตรอย่างครบวงจรแก่เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป

     ดังนั้นกรมวิชาการเกษตร จึงเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร ภายใต้การสนับสนุนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยโดยปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรมีศูนย์วิจัยที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตรจำนวน  22 แห่ง  อยู่ในภาคเหนือ 10  แห่ง   ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4  แห่ง   ภาคใต้ 5  แห่ง   ภาคตะวันออก  2  แห่ง  และภาคกลาง 1  แห่ง ซึ่งทั้ง 22 แห่งจะมีความโดดเด่นที่แตกต่างกันทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่แวะเข้าไปเยี่ยมชมต่างกัน 

          สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตรของกรมวิชาการเกษตรที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากที่สุด คือ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่  จังหวัดเชียงใหม่  โดยที่ศูนย์วิจัยแห่งนี้จะมีผลงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ไม้ผล  และไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว  กาแฟและชาพันธุ์ดี ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร  รวมทั้งยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลงานวิจัยเพื่อเป็นต้นแบบให้ผู้สนใจนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจให้ได้ชม ชิม และจำหน่ายตลอดปี  ได้แก่ น้ำมันมะคาเดเมีย  มะคาเดเมียอบเกลือ  คุกกี้กาแฟสด  คุกกี้ชามัทฉะ  สบู่สครับกาแฟ    น้ำตาลหญ้าหวาน  น้ำพริกมะแขว่น  น้ำมันเหลืองมะแขว่น มันกัลยารสหมาล่า   โดยเฉพาะถ้ามาท่องเที่ยวในช่วงปลายเดือนธันวาคม – มกราคม ซึ่งสภาพอากาศเริ่มหนาวเย็นจะได้เห็นดอกนางพญาเสือโคร่งบานสะพรั่งเต็มทั่วดอย

       “ขอเชิญชวนประชาชนทั่วไปที่สนใจการท่องเที่ยวในลักษณะที่ได้สัมผัสกับธรรมชาติและได้ความรู้ทางด้านการเษตร  การผลิตพืชแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูก ดูแลรักษา จนถึงการเก็บเกี่ยวและการแปรรูป     เข้ามาเที่ยวชมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตรของกรมวิชาการเกษตรได้ทุกแห่ง   ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่รอบศูนย์วิจัยมีรายได้จากการจ้างงานและการขายผลผลิตทางการเกษตรเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ  และกระจายรายได้ไปสู่เกษตรกรและชุมชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นสร้างรายได้ให้หมุนเวียนอยู่ภายในประเทศไทย   ที่สำคัญทุกสถานที่ท่องเที่ยวของกรมวิชาการเกษตร  มีมาตรการเฝ้าระวัง  ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยตรวจคัดกรองนักท่องเที่ยว พร้อมอุปกรณ์ทำความสะอาดบริการตามจุดท่องเที่ยวที่สำคัญๆ ภายในศูนย์ด้วย” ศิริพร กล่าว