“มนัญญา” ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ประกาศสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงเกษตร แหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรอย่างครบวงจร เผยการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของไทยที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ระบุเป็นการเกษตรที่มีความเกี่ยวข้องและผูกพันกับวิถีความเป็นอยู่ของคนไทย สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้กว่าปีละนับแสนคน สร้างรายได้คืนสู่เกษตรกรและชุมชนอย่างยั่งยืน
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เริ่มจัดทำการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งเป็นความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อเป็นการสนับสนุนปีการท่องเที่ยว (Amazing Thailand) จากการที่กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานภาครัฐ ที่มีศูนย์วิจัยกระจายอยู่ในจังหวัดและภูมิภาคต่างๆ และมีสถานที่ตั้งอยู่ในแหล่งธรรมชาติ ซึ่งมีพื้นที่ในการศึกษาวิจัยและพัฒนาแปลงการผลิตพืช ขยายพันธุ์ การอารักขาพืช การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร แปลงต้นแบบการผลิตพืชทฤษฎีใหม่ รวมถึงแปลงรวบรวมและอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมพืชจำนวนมาก จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ความรู้ด้านการเกษตรอย่างครบวงจรแก่เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ได้รับคัดเลือกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาคที่มีสถานที่สวยงาม มีกิจกรรมด้านการเกษตรที่น่าสนใจ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้องพัก สถานที่จอดรถ ถนน ห้องน้ำ ห้องอาหาร ศาลาชมวิว เป็นต้น จุดเด่นของศูนย์ฯ คือมีดอกพญาเสือโคร่ง (ซากุระเมืองไทย) ที่งดงาม ซึ่งจะบานในช่วงเดือนมกราคม และมีจำนวนนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวมากกว่าศูนย์อื่นๆ ถึง 290,000 คน (จำนวนนักท่องเที่ยวตั้งแต่ปี 2559-2563)
นางสาวมนัญญา กล่าวอีกว่า ด้วยกระแสการท่องเที่ยวของโลกในปัจจุบัน เป็นไปในลักษณะการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น ดังนั้น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร จึงเป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบหนึ่งของไทยที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะเป็นการเกษตรมีความเกี่ยวข้องและผูกพันกับวิถีความเป็นอยู่ของคนไทย นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงและสัมผัสกับการเกษตรหลากหลายรูปแบบ ภูมิปัญญาและการพัฒนาด้านการเกษตรของไทย และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ให้คนไทยได้รู้จักการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร การท่องเที่ยวเกษตรสีเขียว แหล่งเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ และยังสามารถกระจายรายได้สู่ชุมชน เกษตรกรในพื้นที่รอบศูนย์วิจัยก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน จากการมีรายได้จากการจ้างงานและการขายผลผลิตทางการเกษตร เป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการกระจายรายได้ไปสู่เกษตรกรและชุมชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เยี่ยมชมแปลงพันธุ์พืชในโครงการพระราชดำริ ของในหลวงรัชการที่ 9 ฟังการบรรยายการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งเพื่อให้เกษตรกรนำไปปลูก ชมแปลงปลูกองุ่นพันธุ์จากอาร์เมเนีย ชมต้นไม้ทรงปลูกของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ชมสวนมะคาเดเมีย และร่วมปลูกต้นพญาเสือโคร่ง (ดอกซากุระมืองไทย) ด้วย
ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตรมีศูนย์วิจัยที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร จำนวน 22 แห่ง อยู่ในภาคเหนือ 10 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 แห่ง ภาคใต้ 5 แห่ง ภาคตะวันออก 2 แห่ง และภาคกลาง 1 แห่ง ดังนี้ 1. ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย 2. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย (วาวี) 3. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ (ฝาง) 4. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแม่ฮ่องสอน 5. ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) 6. ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (แม่จอนหลวง) 7. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ 8. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก (ดอยมูเซอ) 9. ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย (ท่าชัย) 10. ศูนย์วิจัยพืชสวนเลย (ภูเรือ)
11. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ (เขาค้อ) 12. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรหนองคาย 13. ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี 14. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี 15. ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร 16. ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี 17. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ (ยางในช่อง) 18. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต 19. ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ 20. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี 21. ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง และ 22. สถานีทดลองพืชสวนร่มเกล้า