ผลประกวด “เกษตรกรรักบ้านเกิด ปี 2563 ” ภายใตแนวคิด “เกษตรส่งออก” สาวเหนือ “เสาวลักษณ์ มณีทอง” จากสวนปันแสน อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก เจ้าของผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพร “ปลูกรัก” คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง
วันที่ 4 ธันวาคม 2563 ได้มีการประกาศผลการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ครั้งที่ 12 ประจำปี 2563 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด “การเกษตรเพื่อการส่งออก”ครั้งนี้ และได้จัดขึ้น ณ ห้องประชุมชั้น 1 อาคาร สำนักงานใหญ่ อาคารเอ็กซิม (EXIM BANK) ถนนพหลโยธิน แขวงพญาไท จเขตพญาไท กรุงเทพฯ งานนี้จัดโดย มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ dtac ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK และกรมส่งเสริมการเกษตร ปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับรางวัลดังนี้
รางวัลชนะเลิศ
เสาวลักษณ์ มณีทอง(กลาง)
นางสาวเสาวลักษณ์ มณีทอง จากสวนปันแสน อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก เกษตรกรผู้ผลิตสมุนไพรในแบรนด์ “ปลูกรัก” ส่งออกไปอเมริกา ศรีลังกา และออสเตรเลีย เธอเป็นคนรุ่นใหม่ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของสมุนไพรไทย ด้วยการนำสมาชิกในชุมชนมาผลิต “สมุนไพรไทยไร้สารเคมี” มาตรฐานสากล รวบรวมและแปรรูป สร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อนำสมุนไพรไทยสู่สากล ทำการตลาดควบคู่การผลิต พัฒนา วิจัย ต่อยอดผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความแตกต่าง ด้วยการแบ่งปันผลประโยชน์ให้ชุมชนมีรายได้ที่น่าพอใจ ไม่เอาเปรียบเกษตรกร คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่า มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากร มีการวางแผนการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบ แปรรูปเอง ขายเอง ทำการตลาดเอง สามารถกำหนดราคาตลาดได้เองจนชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืน
รองชนะเลิศอันดับ 1
นายสิทธา สุขกันท์ จากกลุ่มข้าวฅนอินทรีย์ จังหวัดพิจิตร เกษตรกรผู้ส่งเมล็ดข้าวเปลือกให้กับคู่ค้า นำไปแปรรูปเป็นแป้ง เส้นพาสต้า และราเมง เกษตรกรหนุ่มผู้ผลิตข้าวแข็งอินทรีย์ มาตรฐานส่งออก นำไปแปรรูปเป็นแป้ง เส้นพาสต้า และราเมง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นบุคคลที่ให้คุณค่าในอาชีพชาวนาความตั้งใจที่จะยกระดับอาชีพชาวนาให้มีเกียรติเทียบเท่ากับอาชีพอื่น ๆ ให้ชาวนามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำทุกอย่างให้เห็นเป็นตัวอย่าง และค่อย ๆ เปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนวิธีการ ให้ชุมชนเห็นว่า ชาวนาสามารถทำข้าวอินทรีย์ส่งออกได้ มาตรฐานสากลก็ทำได้ และร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมติดตาม ร่วมกันรับผิดและรับชอบ มีการพัฒนาการทำงานอย่างสม่ำเสมอ
รองชนะเลิศอันดับ 2
นายณัฐวุฒิ จันทร์เรือง จันทร์เรืองฟาร์ม (JR Farm) จังหวัดจันทบุรี เกษตรกรผู้ส่งออกผลสด และทุเรียนแปรรูป ไปประเทศจีน สิงคโปร์ ใต้หวัน เวียดนาม
นายณัฐวุฒิเป็นคนรุ่นใหม่ที่กลับไปช่วยครอบครัวทำสวนผลไม้ และนำความรู้ที่เรียนจบปริญญาโทด้านพลังงานไปพัฒนาระบบการทำเกษตร จนกลายเป็นเกษตรอัจฉริยะที่มีการนำระบบหุ่นยนต์และการควบคุมอัตโนมัติมาพัฒนาด้านการผลิต การแปรรูป ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ลดต้นทุนการจ้างแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้ภายในฟาร์ม พัฒนาสวนจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงต่อยอดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนในพื้นที่ ให้กับชุมชน ได้เข้ามาศึกษาและนำไปปรับใช้กับพื้นที่ของแต่ละบุคคล เพื่อสร้างความมั่งคงทางอาหารและพัฒนาการเกษตรของประเทศให้เกิดความยั่งยืนต่อไป มีการพัฒนา เพิ่มมูลค่า แปรรูปผลผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ทุเรียนกรอบ JR Farm ที่แปรรูปด้วยเครื่องอบระบบดิจิทัล ใส่ใจทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูกจนถึงการแปรรูป
เกษตรกรดีเด่น
เกษตรกรดีเด่น
1. นายชำนาญ คุ้มไพร จากจังหวัดร้อยเอ็ด เจ้าของคณิสรฟาร์มแมงอินเตอร์ เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด และแปรรูป
2. นางสาวอรวรรณ สุวรรณหล้า จากจังหวัดลำพูน หจก. สวนปทุมทิพย์ เกษตรกรผู้ปลูกและแปรรูปมะม่วง 7 สายพันธุ์
3. นายอมตะ สุขพันธ์ จากจังหวัดแม่ฮ่องสอน หจก.วัน-อ๊อฟ คอฟฟี่ ฟาร์มสเตย์ ผู้ผลิตกาแฟ
4. นายศราวุธ พรชัยสิทธิ์ จากจังหวัดฉะเชิงเทรา สวนมะพร้าวน้ำหอมคุณราตรี ผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม
5. นายสมพงษ์ หนูศาสตร์ จากจังหวัดเพชรบุรี สปาเกลือกังหันทอง ชาวนาเกลือ และผู้ผลิตเครื่องสำอางส่งต่างประเท
6. นางสาวมณีรัตน์ ภาโนมัย จากจังหวัดอุตรดิตถ์ ดี ฟรุต ฟาร์ม (Dfruit Farm) ชาวสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองและมะม่วงโชคอนันต์
7. นายศักดา แสงกันหา จากจังหวัดนครราชสีมา Maligoodผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ผลิตผ้าไหมส่งออก
บุญชัย เบญจรงคกุล
นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวว่า โครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 แล้ว ในปี 2563 เน้นเกษตรกรที่เป็นผู้ประกอบการที่สามารถส่งผลิตภัณฑ์ไปขายแข่งในตลาดโลกด้วย ตามแนวคิดที่ว่า “การเกษตรเพื่อการส่งออก” เพื่อยกระดับเกษตรกรสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีความพร้อมด้านการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานสู่ระดับโลก สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการเกษตรและประเทศชาติ
ด้านนายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ ดีแทค กล่าวว่า ตลาดโลกแข่งขันกันที่คุณภาพของสินค้า ถ้าเกษตรกรไทยผลิตได้มีคุณภาพก็จะช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดโลกมาครองได้เทคโนโลยีเกษตรและดิจิทัลจะมาช่วยเสริมศักยภาพล่าสุดดีแทคได้เปิดตัวแอป Kaset Go ร่วมมือกับปุ๋ยยารา ซึ่งเป็นชุมชนออนไลน์ของเกษตรกรตัวจริง ที่สามารถถามตอบปัญหาการทำเกษตรเฉพาะรายได้ และในปี 2564 ดีแทคจะไม่หยุดที่จะพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม ด้วยความหวังที่จะเสริมศักยภาพเกษตรกรให้เกษตรกรไทยแข็งแกร่งพร้อมกับการเสริมโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้แข็งแรงมากขึ้น
ชารัด เมห์โรทรา
ส่วน นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยปีละ 2.2 ล้านล้านบาท หรือ 13% ของ GDP ไทย ขณะที่เฉลี่ยของโลกอยู่ที่ราว 10% ของ GDPที่ผ่านมาการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 17% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวลดลงต่อเนื่องตลอดเกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จึงถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องเร่งหาทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรของไทย เพื่อหา Product Champion ตัวใหม่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศไทย 20 ปี ของรัฐบาล ว่า ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับนโยบายมาปฏิบัติมีนโยบายชัดเจนที่จะพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer หรือเกษตรศาสตร์ปราดเปรื่อง เพราะว่าปัจจุบันภาคเกษตรของเราเป็นเกษตรกรที่มีอายุมากเป็นส่วนใหญ่ จึงจำเป็นที่จะสร้างเกษตรกรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทน และโลกยุคใหม่ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและการซื้อขายผ่านออนไลน์โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่สามารถเชื่อมโยงผลิตของพี่น้องเกษตรมาขายและส่งออกได้ 5.44 แสนล้านบาท เกษตรกรรุ่นใหม่จึงเป็นความหวัง โดยกรมส่งเสริมการเกษรตรมุ่งให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรไม่ใช่แค่ผลิตและขายแบบเดิมอีกแล้วซึ่งในการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดในครั้งที่ 12 ที่เน้นการเกษตรเพื่อส่งออก สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรฯกรมส่งเสริมการเกษตรจึงให้การส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมที่เกิดขึ้นนี้อย่างเต็มที่