จากซ้าย (1) ผศ. นพ.สมุทร จงวิศาล (3)(นายเบิร์ท แวน เดอร์ เฟลท์ซประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด )(4)ศ. ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา (5) คุณวิชัย เหล่าเจริญพรกุล (6) คุณอิสระ วงศ์อินทร์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด
“เรื่องบางเรื่อง ที่เป็นเรื่องดีงามในอดีต ซึ่งสามารถดำเนินไปในปัจจุบันได้ ต้องขอบคุณทางพิพิธภัณฑ์ และบริษัทอีสท์ เวสท์ ซีด ที่จัดให้มีโครงการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้นี้ขึ้นมา และในเรื่องของสมุนไพร เรามองย้อนหลังไป มีสมุนไพรจำนวนไม่น้อย ที่มีสรรพคุณมาก การที่เราประยุต์ใช้ นำสมุนไพรมาปลูกผสมผสานกันไป”
ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี แห่งการส่งมอบเมล็ดพันธุ์คุณภาพเพื่อเกษตรกร และเพื่อผลิตผลคุณภาพดีแก่ประชาชน ”อีสท์ เวสท์ ซีด” หรือที่กลุ่มเกษตรกรในบ้านเรารู้จักกันดีในนาม ”เมล็ดพันธุ์ตราศรแดง” ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ผักเขตร้อนที่มีคุณภาพสูงพร้อมเริ่มเดินเครื่องในการสื่อสารกับกลุ่มคนเมืองมากขึ้นผ่านแคมเปญ “ความสุขปลูกได้” กับการสรรสร้าง “สวนผักคนเมือง” โดย อีสท์ เวสท์ ซีด ร่วมกับพิพิธภัณฑ์ศิริราช ในโครงการ “ผักสวนครัวรั้วกินได้……สมุนไพรกินดี” ส่งต่อความสุขสู่คนเมือง ณ แปลงผักสวนฐานป้อม พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้ช่วยศาสตร์จารย์ นายแพทย์สมุทร จงวิศาล รองหัวหน้าหน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราช กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ การบริโภค การดูแลสุขภาพตนเอง และการจับจ่ายใช้สอย สถานการณ์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ประชาชนบางส่วนต้องขาดรายได้ โครงการผักสวนครัวรั้วกินได้….สมุนไพรกินดี เป็นโครงการนำร่องที่แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดในโรงพยาบาลศิริราช ก็สามารถที่จะเป็นพื้นที่ปลูกผักสวนครัวได้ มีกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับผักสวนครัว ขั้นตอนการปลูกให้กับประชาชนทั่วไป เกิดเป็นผลผลิตที่สามารถนำมาบริโภคได้อย่างปลอดภัยไร้กังวลกับสารปนเปื้อนต่าง ๆ ทำให้เกิดรายได้เสริมและเป็นการพึ่งพาตัวเองให้ดำรงชีพได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9
หน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราชได้ริเริ่มดำเนินโครงการการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้….สมุนไพรกินดี โดยดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่สวนฐานป้อมพระราชวังหลัง ทั้งบริเวณด้านหน้า และด้านหลังให้เป็นพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัว โดยปราศจากสารพิษและสารเคมี เช่น ผักกาดหอม ผักบุ้ง พริก กวางตุ้ง
หลังจากนี้ทางหน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราช และผู้สนับสนุนได้แก่ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด จะเชิญชวนบุคคลทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรม ที่จะสร้างองค์ความรู้การปลูกผักอย่างครบวงจร ตั้งแต่เดือน สิงหาคม ถึง ธันวาคม 2563 ได้แก่ การจัดอบรมให้ความรู้วิธีการปลูกผักสวนครัว การแจกเมล็ดพันธุ์ผัก และดูแลติดตามผลการปลูกพืชผักสวนครัว
เพื่อให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพ แลกเปลี่ยนผลผลิตระดับชุมชนได้ ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆนี้ จะนำมาประมวลผล ถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกันอีกครั้ง ในกิจกรรมพิเศษ วันที่ 5 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี และ วันดินโลก (World Soil Day)”
ด้านศาสตร์จารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การปลูกผักสวนครัวที่บ้าน เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตกาล นับเป็นส่วนหนึ่ง ของ Normal ปกติ ไม่ใช่เพียงปลูกผัก เพียงเพื่อมีอาหารที่ปลอดภัย แต่ความเขียว การมีความสุขจากการที่เห็นต้นไม้เติบโตเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดี
ในขณะเดียวกันเมื่อดำเนินการไปได้ถึงจุดจุดหนึ่ง นอกจากจะไม่ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อผักสวนครัวมารับประทานยังสามารถมีอาหารที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภคและแบ่งปันต่อไปได้ทั้งหมดเป็นหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานไว้ให้กับพวกเรา
จุดเริ่มต้นเล็กๆในศิริราช คนกลุ่มเล็ก ๆ ไม่กี่คน องค์กรไม่กี่แห่ง ที่มาร่วมกันทำให้แปลงนี้เกิดขึ้นในศิริราช จะเกิดเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ขยายตัวต่อให้กับคนในสังคม คำว่า New normal ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำและทันสมัย แต่การ Back to Nature , Back to Normal อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจความหมาย ในบางครั้ง เรามาไกลจนเกินไปจนหลงลืมสิ่งดี ๆ ในอดีต วิกฤต Covid-19 จะดึงเรากลับไป
“เรื่องบางเรื่อง ที่เป็นเรื่องดีงามในอดีต ซึ่งสามารถดำเนินไปในปัจจุบันได้ ต้องขอบคุณทางพิพิธภัณฑ์ และบริษัทอีสท์ เวสท์ ซีด ที่จัดให้มีโครงการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้นี้ขึ้นมา และในเรื่องของสมุนไพร เรามองย้อนหลังไป มีสมุนไพรจำนวนไม่น้อย ที่มีสรรพคุณมาก การที่เราประยุต์ใช้ นำสมุนไพรมาปลูกผสมผสานกันไป ในพื้นที่ที่เราเข้าถึงได้ง่าย ก็จะทำให้เราผสมผสานชีวิตได้อย่างลงตัว ขอขอบคุณทุกท่าน ที่ทำให้เกิดกิจกรรมในวันนี้ ผมเชื่อมั่นว่า กุศลจิตที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น จะเป็นสิ่งที่ทำให้โครงการนี้ขยายตัวต่อ ทำให้สังคมไทยนี้ดีขึ้น สังคมไทยที่พร้อมรับมือกับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะเราสามารถ Back to normal Back to nature ที่เราคุ้นเคยกันมาแต่ก่อนได้ครับ” ศาสตร์จารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ กล่าว
ส่วน นายวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน เมล็ดพันธุ์ตราศรแดง เป็นที่รู้จักในกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้เมล็ดพันธุ์เป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่โจทย์สำคัญในปีนี้ คือ การสร้างกิจกรรม “ความสุขปลูกได้” กับกลุ่มคนเมือง ที่ไม่ว่า ใคร ๆ ก็สามารถปลูกได้ง่ายๆ ที่บ้าน สามารถทำสวนผักคนเมืองได้แม้แต่ในพื้นที่จำกัด ให้ได้รู้จักถึงวิธีการปลูกผักทานเอง และรับประทานผักที่ปลอดภัยหันมาใส่ใจสุขภาพ ในภาวะCovid-19 ที่อาจจะดีขึ้นหรือหนักขึ้นก็ตาม การปลูกผักนี้จะเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งในยุค New Normal ตอบโจทย์สายรักสุขภาพอย่างแน่นอน
“ โรงพยาบาลศิริราช เป็นสถานที่ใจกลางเมือง ที่มีทั้งบุคคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย ประชาชนจากทั่วทั้งประเทศมาที่นี่ เราเล็งเห็นความสำคัญ ของทีมแพทย์ พยาบาล บุคคลากรทางการแพทย์ และ ประชาชน ที่ควรจะได้สัมผัส ได้ชม ได้ลองปลูกผักรับประทานเอง เรียนรู้ และเข้าใจเรื่องเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ และประโยชน์ของการบริโภคผักปลอดภัย จากการปลูกเอง ทานเอง นอกจากจะได้ผักปลอดภัยสดสะอาด ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายที่ดี แปลงผักสีเขียวสบายตา ยังช่วยผ่อนคลายจากความเครียด ส่งผลต่อสุขภาพจิตที่ดีอีกด้วย จึงได้จัดทำแปลงนี้ขึ้นมาเป็นทั้งอาหารกาย อาหารใจให้กับทีมแพทย์ บุคคลากร และผู้พบเห็นในเวลาเดียวกัน ที่นี่จึงเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะมี สวนผักคนเมือง สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นต้นแบบให้กับคนเมืองที่มีความสนใจอยากลงมือปลูกผักเองที่บ้านครับ ” นายวิชัย กล่าว
นอกจากสวนผักที่ทางเราได้เข้ามาช่วยตรงนี้ กิจกรรมต่อเนื่องที่ทางทาง อีสท์ เวสท์ ซีด จะสนับสนุนก็คือกิจกรรม Workshop สอนปลูก ในโอกาสต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูก จากเมล็ดพันธุ์ตราศรแดงของเรามาเป็นวิทยากรให้ ณ สวนแห่งนี้ ซึ่งผมคิดว่า ที่นี่จะกลายเป็นสวนผักคนเมืองต้นแบบ เป็นศูนย์รวมสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่ผ่านไปผ่านมา ได้ลองลงมือปลูกผัก แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แล้วกลับไปทำเองที่บ้าน หันมาใส่ใจสุขภาพ ปลูกแล้วได้ทานผักทีดี มีเหลือแบ่งปันเพื่อนบ้าน เกิดเป็นคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี ส่งความสุขจากผักคุณภาพดีสู่คนเมืองต่อไป
โครงการ “สวนผักคนเมือง” ภายใต้แคมเปญ “ความสุขปลูกได้” ทางอีสท์ เวสท์ ซีด ยังมีในอีกหลาย ๆ จุดทั่วกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจ ให้คนเมืองหันมาปลูกผัก รักสุขภาพ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แล้วสามารถนำไปทำเองที่บ้านหรือถ่ายทอดสู่คนอื่นได้ ติดตามสวนผักคนเมือง “ความสุขปลูกได้” ทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลเร็ว ๆ นี้