“บ้านโนนตูมถาวร จ.ศรีษะเกษ เริ่มฟื้นบ่อน้ำเก่าให้มีชีวิต ช่วยรอดภัยแล้งพร้อมมุ่งสู่การจัดการน้ำครบวงจร ต่อยอดสู่ท่องเที่ยวชุมชน ชวนชมตำนานทุเรียนภูเขาไฟ”
บ้านโนนตูมถาวร หมู่ที่ 12 ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ถือเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่มีเสน่ห์และอัตลักษณ์เฉพาะตัว มีวัฒนธรรมความเชื่อจากเชื้อสาย “ขอม หรือ “เขมร” ตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ หรือ อีสานใต้ พื้นที่ติดกับ”เขาพระวิหาร” รอบหมู่บ้านส่วนใหญ่ติดกับเทือกเขาพนมดงรัก หนึ่งในป่าต้นน้ำของแม่น้ำหลายสายหลั่งไหลหล่อเลี้ยงชีวิตใน จ.ศรีสะเกษ
ที่สำคัญพื้นที่หมู่บ้านยังเป็นหนึ่งในพื้นที่สีแดง คือมีดินสีแดงที่มีแร่ธาตุสูง เพราะเคยเป็นแหล่งกำเนิดภูเขาไฟ จึงเหมาะแก่การทำการเกษตร จึงได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตผลไม้ เช่น ทุเรียน เงาะ ลำไย มังคุด ลองกอง มะปราง มะม่วง ที่ให้ผลผลิตดีและรสชาติอร่อย โดยเฉพาะทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ที่มีลักษณะแตกต่างจากทุเรียนที่ปลูกที่อื่น คือ กลิ่นไม่แรง เนื้อละเอียด นุ่ม แห้ง จนได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI –Geographical Indication)
ร.ต.เหมราช สุดาชาติ
ร.ต.เหมราช สุดาชาติ อดีตข้าราชการนายทหาร ประจำกระทรวงต่าง ๆ เกือบ 20 ปี ด้วยหัวใจ ”รักษ์บ้านเกิด” จึงบอกกับตัวเองหลังเรียนจบปริญญาโท ในปี 2561 ว่า ถึงเวลาทำตามฝันกลับมาบ้านเกิด เพื่อนำความรู้มาพัฒนาท้องถิ่น โดยยึดอาชีพเกษตร นำผืนดินที่พ่อแบ่งให้จำนวน 6 ไร่ มาปลูกทุเรียน
ฝ่าภัยแล้งซ้ำซาก เอาชนะข้อจำกัดด้านพื้นที่ “แล้งนี้จัดการได้
จากเด็กที่เกิดและเติบโตมาในหมู่บ้าน “โนนตูมถาวร” และทำหัวข้อวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน ร.ต.เหมราช จึงเข้าใจต้นตอของปัญหา “ความยากจน” ของพี่น้องภายในหมู่บ้าน ที่นำไปสู่ปัญหาทางสังคม ว่าล้วนมีสาเหตุมาจาก การขาดการบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ไม่มีการสำรองน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค และทำเกษตร จึงทำให้ได้รับผลกระทบจากปัญหาแล้งในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. ของทุกปี บางปีเกิดน้ำท่วมในช่วงฝนหลากเป็นประจำ
ชาวบ้านที่ทำการเกษตรจึงต้องดิ้นรนสู้ภัยแล้ง หาวิธีเอาตัวรอดเฉพาะตัว สำหรับคนที่มีทุนหนา ก็ใช้รถขนน้ำจากแหล่งน้ำห่างไกล ส่วนคนทุนน้อยก็พลิกไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน โดยเฉพาะในปี 2563 นี้ เป็นปีที่เกิดภัยแล้งหนักหน่วงที่สุดในรอบ 40 ปี และยังเป็นปีที่มีวิกฤตซ้ำซ้อนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบที่รุนแรงกว่าเดิม นอกจากรายได้ที่ลดลงอย่างมาก เกษตรบางรายต้องยอมรับชะตากรรมปล่อยให้ผลผลิตเสียหาย
ทว่า อดีตนายทหารเชื่อว่า “แล้งนี้จัดการได้” หากสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยทาที่อยู่ไกลจากหมู่บ้านราว ๆ 1,700 เมตร มาเติมลงในบ่อพักน้ำเดิมของหมู่บ้าน จึงลุกขึ้นเป็นแกนนำชักชวนคนในชุมชนแก้ภัยแล้งร่วมกัน แม้จะดูมีความหวัง แต่อีกหลายเสียงก็ยังไม่เชื่อว่าการสูบน้ำจะเป็นไปได้จริง เพราะเป็นเส้นทางที่ไกล และที่สำคัญหมู่บ้านอยู่สูงจากอ่างเก็บน้ำ 52 เมตร เทียบได้กับตึก 17 ชั้น ทำให้ ต้องวางท่อและเครื่องปั๊มน้ำผ่านหน้าผาสูงชัน จึงจะสามารถสูบน้ำมายังบ่อพักน้ำในหมู่บ้านได้
“ตอนที่เราไปชักชวนมาทำไม่มีใครเชื่อว่าจะดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำทามาใช้ได้ แต่นี่คือความหวังเดียวในการต่อสู้กับภัยแล้งของชาวบ้านที่ทำการเกษตร เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มีกำลังจะวิ่งรถไปขนน้ำทุกวัน ต้องจ่ายค่าน้ำ 500 – 600 บาท ต่อเดือน ยังไม่รวมกับค่าน้ำมันรถในการขนน้ำ”
ค้นพบคำตอบ ปลดล็อคภัยแล้ง
ด้วยความที่ ร.ต.เหมราช เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่รักการเรียนรู้ จึงค้นหาวิธีปลดล็อคปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นผ่านเสิร์ซเอ็นจิ้น จนทำให้เห็นภาพของโครงการ “เอสซีจี ร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง” ปรากฎขึ้นบนสื่อโซเชียลมิเดีย จึงเกิดแรงบันดาลใจและรีบติดต่อไปยังสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. เพื่อขอความรู้และเข้าร่วมโครงการฯ ด้วยต้องการแก้ปัญหาน้ำอย่างครบวงจร
หลังจากติดต่อเล่าถึงปัญหาชุมชน ร.ต.เหมราชก็รีบกลับมาเขียนแผนการดึงน้ำจากอ่างห้วยทามาพักไว้ในบ่อน้ำสาธารณะภายในหมู่บ้าน มีการนำเสนอแผนผ่านทั้งทางโทรศัพท์ และไปนำเสนอด้วยตัวเองที่กรุงเทพฯ รวมถึงวิดีโอคอนเฟอเรนซ์อีก 2-3 ครั้งในช่วงที่เกิดการประกาศพระราชกำหนดฉุกเฉิน (ล็อกดาวน์) จนกระทั่งแผนงานที่เสนอไปผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการภายในระยะเวลา 2-3 เดือน สสน.จึงส่งคู่มือการติดตั้ง พร้อมกับทุ่นลอยน้ำ แผงโซลาเซลล์ และอุปกรณ์ปั๊มน้ำ เพื่อสูบน้ำจากอ่างห้วยทาไปยังบ่อพักน้ำ โดยชาวบ้านช่วยกันลงแรงในการติดตั้ง
“ตอนแผนผ่านเป็นช่วงล็อกดาวน์ เดือน เม.ย. ซึ่งยังอยู่ในช่วงห้ามเดินทางข้ามจังหวัด และหากเดินทางต้องกักตัว 14 วัน ทีมงาน สสน. ไม่สามารถเดินทางมาได้ จึงช่วยส่งคู่มือการติดตั้งมาให้ชาวบ้าน ซึ่งจุดที่ยากที่สุดคือการวางท่อผ่านหน้าผาสูงชัน ต้องปีนขึ้น ๆ ลง ๆ หลายรอบ แม้จะมีอุปสรรค แต่ฝีมือและความสามัคคีของชาวบ้านที่ช่วยกันแก้ปัญหาหน้างานทำให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ จนติดตั้งสำเร็จภายใน 3 วัน แม้จะเสร็จแล้วก็ยังมีปัญหาท่อแตกน้ำไม่ไหล จึงต้องซ่อมแซมหลายรอบกว่าที่ชาวบ้านได้จะได้ใช้น้ำ”
ชาวบ้านช่วยกันระดมติดตั้งพื้นที่ผันน้ำ โดยการศึกษาจากแบบของระบบวิศกรรมที่ สนน. ส่งมาให้ใน 5 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 ติดตั้งปั๊มสูบน้ำโซล่าเซลล์และทุ่นลอยน้ำ เพื่อดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยทามาเก็บที่สระเก็บน้ำของวัดในชุมชน จุดที่ 2 ติดตั้งปั๊มสูบน้ำจากสระเก็บน้ำของวัดและวางท่อ เพื่อดึงน้ำไปยังสระเก็บน้ำสาธารณะหมู่บ้าน จุดที่ 3 วางท่อส่งน้ำจากจุดแรงดันน้ำระบบท่อริมอ่างเก็บน้ำห้วยทาไปยังปั๊มสูบน้ำโซลาเซลล์ จุดที่ 4 วางท่อส่งน้ำจากจุดตั้งถังแรงดันน้ำระบบท่อริมอ่างเก็บน้ำห้วยทา จุดที่ 5 วางท่อส่งน้ำจากสระเก็บน้ำวัดไปถึงสระเก็บน้ำสาธารณะ
จากการลุกขึ้นมาขจัดภัยแล้งครั้งนี้ ทำให้ชุมชนกว่า 380 คน ใน 93 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 4,000 ไร่ ได้รับประโยชน์จากการผันน้ำ สำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค
จากผันน้ำชั่วคราว สู่วิถีการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
ความสำเร็จจากการมีสระเก็บน้ำส่วนกลางประจำหมู่บ้าน เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทำข้อตกลงในการใช้น้ำร่วมกัน ที่จะต่อยอดไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำในหมู่บ้าน จะต้องมีการมองหาแหล่งน้ำภายในชุมชน ตั้งแต่ห้วย หนอง คลอง บึง และร่วมกันฟื้นฟูแหล่งน้ำในอดีตที่ถูกทำลายจากการขยายสิ่งปลูกสร้างและถูกทิ้งร้างให้คืนกลับมาเป็นพื้นที่เก็บน้ำในชุมชน โดยการเข้าร่วม โครงการ “เอสซีจี ร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง ในครั้งนี้มีระยะเวลา 3 ปี ที่จะช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำ และมีน้ำใช้อุปโภคบริโภค และเพียงพอสำหรับทำการเกษตรได้อย่างครบวงจรและยั่งยืน
“สสน. มองว่าการดึงน้ำจากเขื่อนห้วยทามาใช้ เป็นแค่การบรรเทาภัยแล้งแบบเร่งด่วน แต่โจทย์ที่แท้จริงจะต้องพัฒนาสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง ไม่ใช่วิธีสูบน้ำหรือผันน้ำจากที่อื่น ชุมชนต้องมีแหล่งน้ำ ซึ่งยอมรับว่าตั้งแต่ผมเกิดมา เห็นแหล่งน้ำในหมู่บ้านครั้งล่าสุดปี 2540 หลังจากนั้นก็ไม่มีแหล่งน้ำหรือพื้นที่เก็บน้ำอีกเลย เพราะพื้นที่เหล่านี้เต็มไปด้วยตะกอนดินและวัชพืช มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำ หรือบางแห่งมีการสร้างฝายกั้นผิดวิธี และการทำทางป้องกันน้ำท่วม (Flood Way) ก็สูงจนเกินไป ส่งผลทำให้คนปลายน้ำไม่ได้ใช้ประโยชน์ ” เขาย้อนทบทวนถึงสิ่งที่เปลี่ยนไปที่ต้องฟื้นฟู
สำหรับแผนจัดการน้ำอย่างยั่งยืน นอกเหนือจากการบริหารจัดการพื้นที่กักเก็บน้ำในชุมชน ยังจะต้องตอบโจทย์การใช้ 3 ประเภทคือ การมีน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ทำการเกษตร และการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ
“น้ำคือทรัพยากรที่ควรเป็นต้นทุนฟรี ดังนั้นหลังจากพัฒนาน้ำเพื่อการอุปโภค และทำการเกษตรแล้ว จะพัฒนาติดตั้งเครื่องกรองน้ำเพื่อใช้ในการบริโภคภายในหมู่บ้าน”
‘น้ำ’ คือ เส้นเลือดใหญ่ขับเคลื่อนชีวิตให้ยั่งยืน
เมื่อมีน้ำเสมือนมีเส้นเลือดหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ให้พร้อมขับเคลื่อนพลังชีวิต น้ำจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ชาวบ้าน คิดต่อยอดวางแผนการเพาะปลูกได้หลากหลาย โดยเฉพาะพืชที่ใช้น้ำมากแต่ให้ผลผลิตดี ราคาสูง เช่น สวนผลไม้ ทุเรียน และเงาะ “ทุเรียนภูเขาไฟ” ของที่นี่จึงเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ ต่อยอดไปสู่โอกาสในการพัฒนาสู่การท่องเที่ยว ดึงให้คนเข้ามาเยี่ยมชม และซื้อผลผลิต รวมไปถึงการคิดทบทวนการพึ่งพาตัวเอง เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ โดยชุมชนมีการคิดพัฒนาโครงการ เช่น การทำแก๊สหุงต้มจากพลังงานชีวภาพแทนการไปซื้อ ซึ่งมีต้นทุนถึง 400 บาทต่อถัง และใช้ได้เพียง 1 เดือน
“มีน้ำ ก็มีป่า ก็ทำการเกษตรได้ ช่วยให้ทุกคนปลูกพืชอะไรก็ได้มาเสริมรายได้หลัก จากเดิมที่หลีกเลี่ยงการปลูกพืชที่ไม่ต้องใช้น้ำมาก การมีน้ำจึงเปรียบเสมือนมีหลอดเลือดเลี้ยงร่างกาย หล่อเลี้ยงไปทุกส่วนของร่างกาย พอมีน้ำ ชาวบ้านก็อยากปลูกอยากทำ เพิ่มช่องทางหารายได้”
ร.ต.เหมราชวิเคราะห์ผลสำเร็จจากการร่วมมือกันของชุมชนเพื่อสู้ภัยแล้งในครั้งนี้ ว่าเป็นเพราะชุมชนเข้าใจตัวตน ภูมิหลัง รู้จักต้นทุนทรัพยากรที่มี จึงรู้ปัญหาและความต้องการของชุมชนโดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือ ที่สำคัญชุมชนเป็นผู้ที่ลุกขึ้นมาสร้างความสามัคคี พึ่งพาตนเอง พร้อมที่จะศึกษาเรียนรู้ และเทคโนโลยีใหม่ ในการแก้ปัญหา
“เมื่อรู้ปัญหา จึงรู้ความต้องการของตัวเอง ชุมชนก็สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเข้าใจ ถูกจุด และมีโอกาสจะสำเร็จ เพราะมีวิธีการแก้ไขปัญหาที่เป็นกระบวนการ ครบวงจร ซึ่งความรู้เหล่านี้จะติดตัวชาวบ้าน ถูกส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป และกระจายไปยังชุมชนที่ประสบภัยเช่นเดียวกัน ซึ่งมีความยั่งยืนกว่าการรอความช่วยเหลือ หากชุมชนไม่ลุกขึ้นมาร่วมมือกัน สามัคคีกัน บริหารจัดการกันเองในชุมชน ก็จะไม่เกิดองค์ความรู้ที่ยั่งยืนในชุมชน”
ทั้งหมดนี้คือหนึ่งในความรู้จาก ”หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ร.ต.เหมราชได้ศึกษามายาวนาน จึงต้องการสานต่อพระราชปณิธาน อยู่บ้านเกิดทำเกษตรทฤษฎีใหม่ พร้อมกับปลูกสวนทุเรียนกว่า 100 ต้น ด้วยการบริหารจัดการภายใต้หลักการ “พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน”
นี่คือผลลัพธ์ที่เกิดจากการเรียนรู้และค้นหาแนวทางปลดล็อกปัญหาภัยแล้ง ภายใน 3 เดือน ซึ่งเป็นการชุบชีวิตแหล่งน้ำชุมชนที่ถูกทิ้งร้างมานานนับสิบปี ให้กลับมาเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงคนในหมู่บ้านได้อย่างยั่งยืน เมื่อก้าวข้ามปัญหาภัยแล้งได้ ก็สามารถพลิกฟื้นทรัพยากรให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้ บวกกับต้นทุนทางวัฒนธรรมที่งดงาม “หมู่บ้านโนนตูมถาวร” จึงเป็นอัญมณีเม็ดงามที่ถูกเจียระไน มีมูลค่าและคุณค่าที่เป็นต้นแบบด้านการพัฒนายั่งยืน พร้อมอวดโฉมต่อยอดสร้างจุดขายด้านการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ