“การต่อต้านและการเรียกร้อง ไม่สามารถช่วยจัดการปัญหาความแห้งแล้งได้อย่างยั่งยืน อีกทั้ง บทเรียนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวและปลูกพืชเศรษฐกิจ ก็ทำให้รู้ว่า ไม่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เพียงพอ และยังเป็นการทำลายป่าแบบไม่รู้ตัว”
ม้ว่าพี่น้องชาวไทยภูเขามีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับป่า มีประเพณีและวัฒนธรรมที่ให้ความเคารพผืนป่า เช่น การบวชป่า แต่ด้วยวิถีเกษตรที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา ผนวกกับเกษตรเชิงเดี่ยวในยุคสมัยนี้ กลายเป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้พื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เสื่อมโทรมกลายเป็น “เขาหัวโล้น” ทำให้ อดีตผู้ใหญ่บ้านแม่ขอ ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ “อุทัย พายัพธนกร” หรือ “พ่อหลวงอุทัย” ในฐานะผู้นำชุมชนตัดสินใจร่วมโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง” จนเป็นผู้นำชุมชนภัยแล้งต้นแบบในโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง” ในวันนี้
ที่จริง พ่อหลวงอุทัย เคยเป็นหนึ่งในแกนนำที่ต่อต้านการสร้างเขื่อน เรียกร้องให้มีการเปิดพื้นที่ป่าชุมชนให้ชาวบ้านมีสิทธิ์ทำกิน หวาดระแวงภาครัฐ ได้พลิกบทบาทมาเป็นผู้สร้างเครือข่ายอนุรักษ์ผืนป่า ลุกขึ้นมาทำงานร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. เพราะพบคำตอบว่า การต่อต้านและการเรียกร้อง ไม่สามารถช่วยจัดการปัญหาความแห้งแล้งได้อย่างยั่งยืน อีกทั้ง บทเรียนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวและปลูกพืชเศรษฐกิจ ก็ทำให้รู้ว่า ไม่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เพียงพอ และยังเป็นการทำลายป่าแบบไม่รู้ตัว
อาชีพที่ชาวบ้านยึดถือเพื่อสร้างรายได้คือ “ไร่ข้าวโพด” พืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรนิยมปลูกอย่างแพร่หลายทั่วทั้งตำบล แต่ผลผลิตกลับไม่สามารถสร้างรายได้จุนเจือครอบครัวได้อย่างที่หวัง ชีวิตชาวบ้านยังตกอยู่ในความแร้นแค้น อีกทั้งยังทำให้ผืนดินแห้งแล้ง “ภาพภูเขาหัวโล้น” ที่ทอดยาวตามลุ่มน้ำแม่แจ่ม คือหลักฐานที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัด
เปลี่ยนความคิด พลิก “ผู้ทำลาย” สู่ “ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง”
ชีวิตอีกด้านที่ต้องตกเป็น “ผู้ทำลายป่า” ทำให้ อุทัย ย้อนกลับมาคิดว่า เขาและพี่น้องในชุมชนต่างก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างปัญหาจากการเปิดหน้าดินทำไร่หมุนเวียน จึงต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อผืนป่าในหมู่บ้าน ด้วยการชักชวนชุมชนข้างเคียงก่อตั้งกลุ่ม “กระเหรี่ยงรักษาป่า” ช่วยกันวางกฎกติกา ปกป้องอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่า จนเมื่อแนวคิดและการทำงานของกลุ่มขยายกว้างขึ้น โดยให้ชุมชนคนเมืองสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “เครือข่ายรักษาป่า”
“ผมเคยเป็นแกนนำไปเรียกร้องสิทธิ์ที่ดินทำกิน ขอให้ทางการเปิดป่าชุมชนให้พวกเรา เมื่อกลับมาคิดจึงรู้ว่า เราเปิดป่าเพื่อตัวเอง ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะชุมชนเองก็ยังไม่เข้าใจการรักษาป่า และกังวลว่าอาจจะยังตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซ้ำยังเคยมีอคติกับเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ช่วงหนึ่ง เพราะถูกตำหนิเรื่องการถางป่า” อุทัย เล่าถึงสาเหตุความกดดันที่ชุมชนต้องตกเป็นผู้ทำลายผืนป่าโดยไม่รู้ตัว
เขา เล่าอีกว่า สภาพป่าไม้ของแม่แจ่มตกอยู่ในวังวนปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำหลากซ้ำซาก เพราะสัดส่วนพื้นที่ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 อยู่เหนือแหล่งน้ำ จึงยากต่อการทำการเกษตรที่ต้องใช้น้ำ มีเพียงแค่ข้าวโพดซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกได้ง่ายและหวังว่าจะสามารถขายได้ราคาดี แต่เมื่อหักค่าปุ๋ย ค่ายา ก็แทบจะไม่เหลือรายได้มาจุนเจือครอบครัว
“ปัญหาหลักคือขาดแคลนน้ำสำหรับการเพาะปลูก ต้องรอน้ำฝนอย่างเดียว ชุมชนมีกำลังน้อยและหวังว่าการปลูกข้าวโพดที่ใช้น้ำน้อยจะได้เงินเยอะ แต่หลังจากขายข้าวโพด ต้องจ่ายค่าปุ๋ย ค่ายาแล้ว เหลือเงินนิดเดียว พอหลังเก็บเกี่ยวก็ต้องนำเงินมาใช้หนี้ ส่งค่าเทอมให้ลูก นี่คือวังวนปัญหาที่รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และที่สำคัญคือ วิธีเพิ่มพื้นที่การเกษตรเมื่อครอบครัวขยาย และผืนดินทำกินที่ครอบครัวให้ไว้ไม่เพียงพอ ชาวบ้านก็จะเปิดหน้าดินรุกล้ำผืนป่าไปเรื่อย ๆ” เขา กล่าว
เริ่มพลิกผืนดินแห้งแล้งให้เป็นแผ่นดินทอง ด้วยการ “จัดการการน้ำชุมชน”
หลายหน่วยงานต่างแวะเวียนเข้ามาที่ ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา “เขาหัวโล้น” โดยใช้วิธีการจัดประชุม แต่ก็ยังขาดการลงมือปฏิบัติ ซึ่งไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาแบบองค์รวมได้อย่างยั่งยืน ในขณะที่ชุมชนต้องการปลดล็อกปัญหา ทั้งเรื่องพื้นที่ทำกิน แหล่งทรัพยากรดิน น้ำ และป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ทั้ง 3 มิติ คือ “สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม” และมีรายได้เพียงพอสำหรับเลี้ยงครอบครัว
นั่นคือหลักคิดอย่างยั่งยืนที่ทำให้คุณอุทัยร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และสสน. แม้แรกเริ่มจะไม่ไว้วางใจกัน เพราะไม่ไว้ใจการทำงานของหน่วยงานรัฐ ในขณะที่มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และสสน. มีความตั้งใจที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าต้นน้ำ
“เมื่อเปิดเวทีการพูดคุย ผมพูดก่อนเลยว่า หากมีแนวคิดสร้างเขื่อนแม่แจ่ม ผมขอคัดค้าน เพราะจะมีผลกระทบต่อบ้านผมจริง ๆ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และสสน. ตอบว่า วิธีการแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำหลากด้วยการสร้างเขื่อนไม่ใช่คำตอบเดียว แต่เป็นแค่หนึ่งในแนวทางแก้ปัญหา ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่ได้ผลดี เช่น การทำอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ตามแม่น้ำสาขา ผมได้ยินแบบนั้นก็เลยตัดสินใจเข้าร่วม” อดีตผู้ใหญ่บ้านแม่ขอ เล่าถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้ เขา ร่วมมือพลิกฟื้นเขาหัวโล้น โดยมั่นใจว่าทางที่เลือกจะไม่ใช่การสร้างเขื่อน
วิธีการทำงานของ อุทัย และมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และสสน. สอคคล้องกันคือ การสร้างความร่วมมืองระหว่างคนในชุมชน โดยมุ่งเน้นการจัดการการน้ำแบบมีส่วนร่วมของคนในชุมชน โดยหน่วยงานจะช่วยเสริมเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการน้ำในชุมชนและอนุรักษ์ผืนป่า ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ชุมชนตั้งใจจะทำคือ การฟื้นฟูทรัพยากร พลิกฟื้นผืนดิน ป่า และน้ำ ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน
วิธีการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และสสน. ทำให้เห็นผลลัพธ์ของการบริหารจัดการแหล่งน้ำในชุมชน ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดิน น้ำ ป่า ผสมผสานกับการปลูกกล้วย เพื่อให้ผืนดินดูดซับน้ำไว้ รวมทั้ง การสร้างระบบประปาภูเขา วางท่อส่งน้ำ มาเก็บในถังเก็บน้ำสำหรับใช้อุปโภคในครัวเรือน ติดตั้งระบบกรองน้ำดื่มสะอาดไว้ใช้ทั้งชุมชน และการซ่อมบ่อเก็บน้ำ เพื่อกระจายน้ำทำเกษตรบริเวณไหล่เขา ของเกษตรกรในชุมชน จึงได้แก้ปัญหาน้ำของชุมชน ทั้งสำหรับการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร ชุมชนได้ขยายผลไปสู่การทำวนเกษตร สร้างป่าธรรมชาติในพื้นที่ตนเอง
แน่นอนเมื่อมีน้ำ และผืนดินมีความอุดมสมบูรณ์ สิ่งสำคัญที่ตามมาคือ การได้สานต่อแนวทางตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยการน้อมนำแนวคิดการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ และการปลูกพืชผสมผสาน ในรูปแบบ วนเกษตร มาปรับใช้จริงในพื้นที่ของตนเอง โดยสามารถเลือกปลูกพืชได้ตามความต้องการของชุมชนเป็นหลัก ซึ่งช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวไปพร้อมกันกับสร้างรายได้ให้ชุมชนให้อยู่ดีกินดีขึ้นมาได้
พ่อหลวงอุทัย บอกว่า การบริหารจัดการน้ำเป็นวิธีการได้รับประโยชน์เป็นส่วนรวม ไม่ใช่แปลงใครแปลงเดียว และยังมีการทำ”วนเกษตร” เช่น ปลูกเสาวรส ลิ้นจี่และไม้ผล ไม้ยืนต้น ได้ประโยชน์ทางอ้อมในเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว จึงชวนคนทั้งชุมชนมาช่วยกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นตำตอบเชิงประจักษ์ที่ชุมชนหมู่บ้างข้างเคียงไม่ต้องรอให้คุณอุทัยไปเชิญชวน ก็ออกตัวขอเข้าร่วมโครงการ ทำให้มีชุมชนอื่น ๆ ติดต่อมามาก แต่อยากให้ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้สำเร็จก่อนแล้วจะขยายไปยังชุมชนข้างเคียง
ผู้นำหัวใจนักสู้ เปลี่ยน “ปัญหา” เป็น “ความเข้าใจ”
ย้อนวิถีชีวิต อุทัย เขาผ่านบทเรียนการทำงานกับชุมชนที่มีทั้งคนที่เฉย ๆ คนเห็นด้วย และคนที่ต่อต้านจนนำไปสู่การปะทะทางความคิดอยู่หลายครั้ง แต่ด้วยหัวใจของความเป็นนักสู้ที่ทั้งอดทน ยอมรับฟัง มีสติ ไม่หวั่นไหว เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหา พร้อมยอมรับคำตำหนิ เพื่อนำมาปรับปรุงตนเองและวิธีการทำงานให้สามารถสร้างความร่วมมือได้ดียิ่งขึ้น
เขา ยืนยันเสมอว่าส ต้องทำงานอย่างมีระบบ เข้าใจปัญหาชุมชน ต้องสู้ ระยะแรกต้องใช้ความอดทนสูงมาก เจอคนไม่เอาด้วย ไม่เป็นไร ไม่ปฏิเสธ ไม่ยอมแพ้ ถูกตำหนิก็ไม่สนใจ ไม่ทะเลาะกับใคร เพราะถือว่าเป็นการอุดช่องโหว่ความบกพร่องของเรา เพื่อนำมาดูว่าเราต้องปรับปรุงอะไร เมื่อเข้าใจปัญหา จึงค่อย ๆ อธิบาย และไม่เพียงพูดอย่างเดียว ต้องทำให้เห็นประโยชน์ ชุมชนจึงพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตาม โดยหากเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งทุกคนก็พร้อมร่วมมือ”
วันนี้ชีวิตใหม่ของชาวเขาไม่แร้นแค้นอย่างเช่นในอดีต ดั่งที่ อุทัย เล่าย้อนถึงจุดลำบากในวัยเด็ก ซึ่งเป็นยุคที่อาหารเป็นของหายากถึงกับต้องเก็บซุกซ่อนไว้ให้ดี พื้นที่นี้เคยแห้งแล้งถึงขั้นต้องขุดหัวมัน กอย มาคลุกข้าวกินเพื่อประทังชีวิต นั่นเป็นเพราะชาวบ้านมีวิถีดั้งเดิมคือการพึ่งพิงธรรมชาติ แต่ขาดความเข้าใจวัฏจักรตามธรรมชาติ
จุดเริ่มต้นของการกลับมาพึ่งพาธรรมชาติ ด้วยการตระหนักถึงคุณแผ่นดิน ดูแลรักษาธรรมชาติ สร้างความอุดมสมบูรณ์ได้ด้วยการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า จึงนำไปสู่ความสมดุลของระบบนิเวศ และมีความมั่นคงของแหล่งผลิตอาหาร พร้อมรับมือกับสถานการณ์การคืนถิ่น หลังจากได้รับผลกระทบถูกเลิกจ้างงานในวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) แม้ไร้งาน ขาดเงิน แต่ก็ยังมีผืนนาผืนไร่ที่สร้างผลผลิตให้งอกงามเป็นแหล่งเลี้ยงครอบครัวตามวิถีธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน