ฝ่าคลื่นมนุษย์ ณ วัดคินคะคุจิ มรกโลกแห่งเมืองเกียวโต (1)…คลิป

  •  
  •  
  •  
  •  

ดลมนัส  กาเจ

            แดดยามเช้าทอแสงอ่อน ขณะที่รถบัสของนักท่องเที่ยวนับสิบนับร้อยคันจอดเรียงรายเต็มลาน ทั่วอณาบริเวณ ผู้คนลงจากรถจ้ำขาอย่างเร่งรีบราวกับมีงานด่วนอยู่เบื้องหน้า  เป้าหมายของพวกเขาและเธอ เพียงไปรอเข้าแถวเพื่อซื้อบัตร เข้าชมวัดหลังน้อยสีทองเหลืองอร่ามตระหง่านอยู่ติดขอบสระน้ำขนาดใหญ่  อันเป็นมรดกโลก ที่ถูกโอบล้อมด้วยคลื่นมนุษย์อันเนืองแน่นของแต่ละวัน

            แน่นอนใครและใครที่ย่างก้าวเข้าไปท่องเที่ยวที่เกียวโต หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า “เกียวโตะ” ประเทศญี่ปุ่น สิ่งที่ไม่ควรพลาด คือการเข้าชม “คินคะคุจิ” (Kinkakuji) ที่คนไทยหรือคนทั่วไปรู้กันในนามของ “วัดทอง” (Golden Pavilion) เป็นวัดนิกายเซน มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า โรคุองจิ (Rokuonji)  นั่นเอง เป็นวัดในนิกายเซน อยู่ที่เมืองชิตะ ทางเหนือของเกียวโต (Kyoto)

            ดุจเดียวกับคณะของเรา ที่เดินทางไปกับ “ทริปยันมาร์” เพื่อไปชมเทคโนโลยีสุดล้ำในญี่ปุ่นและโครงการเพื่อสังคม เพื่อสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนทั่วโลก ภายใต้มุมมองไปยังอนาคตในอีก 100 ปีข้างหน้า ตามวิสัยทัศน์ “A Sustainable Future” หรืออนาคตที่ยั่งยืน ของ บริษัท ยันม่าร์ จำกัด ที่ได้มีการวิจัยและพัฒนาทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลกเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน 2562 หลังจากที่เยี่ยมชมอาคาร  Flying-Y สำนักงํานใหญ่ของยันม่าร์ ในโอซาก้า ไปสัมผัสสโมสรเซเรโซ โอซาก้า ที่ยันม่าร์ให้การสนับสนุน รวมถึงไปชมโรงงานผลิตเครื่องยนต์ที่ก้าวล้ำของยันม่าร์ในเมืองบิวะ และชมพิพิธภัณฑ์ยันม่าร์ (Yanmar Museum) เช้าของวันที่ 3 ของทริปนี้ เราหาโอกาศไปสัมผัสของจริง ณ  วัดคินคะคุจิ หรือวัดทองในช่วงเวลาหนึ่งด้วย

           “วัดคินคะคุจิ” เป็นอาคารที่งดงามเป็นทองเหลืองอร่าม ด้านหน้าหันไปทางสระน้ำขนาดใหญ่ ชั้นบนสุดของอาคารตกแต่งด้วยทองคำเปลวสุก ว่ากันว่า เดิมทีวัดแห่งนี้ เป็นบ้านพักของท่านโชกุนอะชิคางะ โยชิมิทสึ (Ashikaga Yoshimitsu) ตอนบั้นปลายชีวิต และตามเจตน์จำนงค์ของท่าน จะอุทิศให้กับลัทธิรินไซ (Rinzai sect) นิกายเซน ภายหลังจากที่ท่านสิ้นไปเมื่อปี 1408 และต่อมาก็เป็นวัดนิกายเซน ดังกล่าว

            กระนั้นตามเรื่องราววัดแห่งนี้ เป็นอาคารเพียงหลังเดียวที่เหลืออยู่ในหมู่อาคารที่โชกุนอะชิคางะ โยชิมิทสึ ใช้เป็นบ้านพักในบั้นปลายชีวิต และหลังจากที่ยกเป็นวัดแล้ว อาคารแห่งนี้ถูกเผาทำลายหลายต่อหลายในช่วงสงครามกลางเมืองโอนิน (Onin War) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายให้กับเมืองเกียวโตอย่างมาก ล่าสุดเมื่อปี 1950 วัดทองถูกเผาอีกครั้ง ด้วยฝีมือของพระที่คลั่งศาสนารูปหนึ่ง กระทั่งปี 1955 อาคารแห่งนี้สร้างขึ้นที่มีขนาดและลักษณะเหมือนกัน ที่สร้างเพื่อสะท้อนถึงความหรูหราของวัฒนธรรมคิตายาม่า (Kitayama) ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงที่มั่งคั่งของเกียวโตในสมัยนั้น

            จากความสวยงาม ด้วยสถาปัตยกรรมที่งดงาม อันล้ำค่า และมีเรื่องราวบอกถึงวัฒนธรรมในสมัยยุคโชกุน และมีประวัติศาสตร์อันยาวนานจนกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองเกียวโตที่สวยงาม โดยช่วงที่ใบไม้เปลี่ยนสี ราวปลายเดือนพฤศจิกายน จนรอบๆวัดจะมีใบไม้แดง เหลือง ส้ม ทำให้วัดทอง “คินคะคุจิ” ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นมรกดโลกในปี ค.ศ. 1994 และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันสำคัญของเมืองเกียวโตในปัจจุบัน (ติดตามตอนจบวันอาทิตย์หน้า)