“เกษตรทำกิน”
“ผมโตขึ้นมาก็พบทุเรียนต้นนี้เป็นต้นใหญ่แล้ว และให้ผลดกมากด้วย บางปีมีถึง 300-400 ผล ที่สำคัญเมื่อสุกจะมีลูกสีแดง รสชาดหวาน มัน เนื้อหนา เม็ดเล็ก”
แดดยามเช้าถูกตัดเหลี่ยมด้วยขุนเขาที่ตระหง่ายตลอดแนวตะเข็บรอยต่อชายแดนไทย-เมียนมาด้านภาคตะวันตก ขณะที่คณะของรองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร “ชาตรี บุญนาค” พร้อม นายบุญเลี้ยง ข่ายม่าน เกษตรจังหวัดกาญจนบุรี นายสมหวัง บัวงาม หัวหน้าเกษตรอำเภอสังขละบุรี นายคำรณ มะปรางหวาน ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเริมการเกษตรที่สูง จ.กาญจนบุรี (เกษตรที่สูง) สังขละบุรี และคณะสื่อมวลชนลัดเลาะตามเส้นทางอันคดโค้ง ปีนขึ้นเขาสูง มุ่งหน้าสู่หมู่บ้านสเนพ่อง หมู่ 1 ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี โดยมีนายสมชาย วุฒิพิมลวิทยา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ไล่โว่ เป็นผู้นำทาง เพื่อพิสูจน์ความจริงว่าจังหวัดกาญจนบุรี มีการปลูกทุเรียนมานานแล้ว และมีต้นทุเรียนที่เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า ปลูกมานับร้อยๆปีแล้ว
และแล้วคณะทั้งหมดไปถึงใกล้เป้าหมายที่บ้านของนายหยี่ซองเจ้ง สังขเพลินไพร เกษตรกรวัย 77 ปี ที่รำลือกันว่า มีสวนทุเรียนอยู่ท่ามกลางขุนที่เป็นทุเรียนดึกดำบรรพ์ อายุกว่า 150 ปี ที่บ้านสเนพ่อง หมู่ 1 ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี หลังจากที่จอดรถทุกคนเตรียมลุยบุกป่าท้าพิสูจน์ความจริง เนื่องจากสวนทุเรียนของนายหยี่ซองเจ้ง ปลูกไว้กลางป่าห่างจากหมู่บ้านกว่า 3 กิโลเมตร อยู่สภาพภูมิอากาศเป็นบริเวณพื้นที่ราบกลางหุบเขา และเป็นพื้นที่ต้นน้ำชื่อลำห้วยปุปุ ที่ชาวบ้านนำน้ำมาผลิตเป็นน้ำประปาในหมู่บ้านซึ่งเส้นทางเดินมีความยากลำบาก เนื่องจากต้องปีนเขาขึ้นไป
เมื่อไปถึงพบต้นทุเรียนขนาดใหญ่จำนวนกว่า 10 ต้น ที่ปลูกกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ และในบรรดาต้นทุเรียนเหล่านี้ ที่ทำคณะตลึงและฮือฮาในเวลาต่อมา คือมีทุเรียนต้นหนึ่งดูสภาพของต้นแล้วน่าจะผ่านฤดูกาลต่างๆมายาวนานนับเป็นศัตวรรษ จนกลายเป็นต้นทุเรียนดึกดำบรรพ์ ถอดลำต้นฉลูดขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นจุดเด่น มีความสูงกว่า 25 เมตร มีลำต้นใหญ่กว่า 2 คนล้อมโอบ บนต้นมีผลทุเรียนจำนวนหลาย 10 ลูก ทางนายชาตรี ได้ทำการวัดรอบลำต้นทุเรียน ได้ความยาวกว่า 3 เมตร ที่สำคัญยิ่งได้มีโอกาสชิมรสชาติของทุเรียนต้นนี้ด้วย เป็นผลทุเรียนที่ร่วงลงมาจากต้นก่อนสัตว์จะแย่งไปกินก่อน ซึ่งปรากฏว่ารสชาตของทุเรียนต้นดังกล่าวมีรสชาติดี หวานมัน มีกลิ่นหอมคล้ายทุเรียนกวน
“ทุเรียนต้นนี้เป็นต้นพันธุ์ที่ปลูกโดยคุณพ่อของผมเอง ปลูกมาเมื่อที่คุณพ่อยังหนุ่มแน่น คุณพ่อของผมมีอายุกว่า 100 ปี ผมโตขึ้นมาก็พบทุเรียนต้นนี้เป็นต้นใหญ่แล้ว และให้ผลดกมากด้วย บางปีมีถึง 300-400 ผล ที่สำคัญเมื่อสุกจะมีลูกสีแดง รสชาดหวาน มัน เนื้อหนา เม็ดเล็ก” นายหยี่ซองเจ้ง เล่าถึงที่มาของต้นทุเรียนดึกดำบรรพ์ต้นนี้
เขา เล่าอีกว่า สาเหตุที่คุณพ่อของเขาไปปลูกทุเรียนในซอกเขาแห่งนี้ เนื่องจากในอดีตบ้านสเนพ่อง นิยมเลี้ยงควาย โดยการปล่อยให้หากินตามธรรมชาติ การจะปลูกต้นผลไม้ก็มักจะถูกควายทำลาย คุณพ่อจึงมาทำสวนและปลูกทุเรียนที่นี่เนื่องจาก สัตว์เลี้ยงและควายไม่สามารปีนเขาขึ้นมาได้ ตอนสมัยที่เขายังแข็งแรง เวลาที่ทุเรียนสุก เขาจะนำทุเรียนใส่แพ ล่องลงไปขายที่ตัวเมืองสังขละบุรี คนที่เคยกินจะติดอก ติดใจ ถามหาโดยเฉพาะข้าราชการที่มาทำงานในสังขละบุรีเมื่อ 40 ปีก่อน จะรู้จักเป็นอย่างดี
หลังจากที่ได้พูดคุยกันแล้ว ทางรองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้มอบเกียรติบัตร ให้แก่นายหยี่จองเช้ง สังขเพลินไพร เพื่อเป็นการยกย่องในฐานะที่เป็นผู้อนุรักษ์ทุเรียนพันธุ์ท้องถิ่น ที่มีคุณภาพดี และมีอายุยืนยาวกว่า 100 ปี ซึ่งหาได้ยากมาก พร้อมได้มอบหมายให้ เจ้าหน้าที่ปีนต้นทุเรียนเพื่อทำการเก็บกิ่ง โดยมอบหมายให้ นายคำรณ มะปรางหวาน ผอ.ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรพื้นที่สูง ( เกษตรที่สูง ) สังขละบุรี รับผิดชอบในการขยายพันธ์ เพื่อการอนุรักษ์ และแจกจ่ายให้เกษตรกร ในพื้นที่ปลูกในอนาคตต่อไป
ท่ามกลางกระแสทุเรียนกำลังมาแรง ต้นทุเรียนพื้นเมืองยักษ์ในป่าขุนเขาแห่งบ้านสเนพ่อง หมู่ 1 ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ของนายหยี่ซองเจ้ง สังขเพลินไพร นับเป็นสายพันธุ์ทุเรียนที่น่าสนใจยิ่ง เพราะตามคำบอกเล่าของเจ้าของนั้น เป็นทุเรียนที่มีผลดก มีลูกสีแดง รสชาดหวาน มัน เนื้อหนา เม็ดเล็ก อีกด้วย