อาหมัด เบ็ญอาหวัง
“แกะ”ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง สัตว์สี่เท้าเคี้ยวเอื้องและเลี้ยงลูกด้วยนม มีกีบคู่ที่เราเลี้ยงเป็นปศุสัตว์ แต่หมายถึง “แกะเก็บข้าว” ของชาวภาคใต้บ้านเรา
ที่บอกว่า “สูญพันธุ์” ไม่แปลว่า แกะเก็บข้าวเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องสืบพันธุ์ หรือขยายพันธุ์มันจึงจะสูญพันธุ์ได้ แต่แกะเก็บข้าว เป็นสิ่งประดิษฐ์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นใต้ที่ใช้สำหรับเก็บข้าวในนา หรือในไร่ เป็นคำอุปมาอุปว่า “แกะ” ที่ใช้เกี่ยวข้าวในภาคใต้ แทบจะไม่ค่อยได้เห็นกันแล้ว
วันก่อนไปดูงานที่สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ หรือ อีรี่ ( International Rice Research Institute, ย่อ: IRRI) ที่สำนักงานใหญ่ใน จ. ลอสบาโนส ลากูนา ที่จริงภาษา กาตาล็อกอ่านว่า ลอสบันยอส ลากูนา (Los Banos, Laguna) ประเทศฟิลิปปินส์ ได้เห็น “แกะเก็บข้าว” โชว์ไว้ในพิพิธภัณฑ์ที่สถาบันอีรี่ และมีข้อความว่า เครื่องเก็บเกี่ยวข้าวของชาวนาในประเทศไทย
สมัยเด็กๆเคยเห็นที่บ้าน จ.สงขลา แต่ปัจจุบันไม่เห็นมาหลายสิบปีแล้ว จึงคิดว่า มันได้สาบสูญจากวิถีชีวิตของชาวภาคใต้กันแล้วหรือ? เลยหาข้อมูลดู และได้ภาพจาก เฟสบุ๊กซ์ของ “บางปะกง สานน้ำแห่งชีวิต” และใน google มาประกอบเพิ่มเติม จึงขออนุญาตมาใช้บางภาพ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านครับ กระนั้น มีพรรคพวกบอกว่า ที่ จ.พัทลุง นครศรีธรรมราช ยังพอใช้กันอยู่
“แกะ” เป็นเครื่องมือเก็บข้าวของภาคใต้ ที่ประดิษฐ์ขึ้นจากแผ่นไม้กระดานอย่างเรียบง่าย มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้างหมูหน้าจัว คือด้านตรงข้ามขนานกัน คือบนล่างแต่ความยาไม่เท่ากัน ด้านบนยาวราว 10-12 ซม.ด้านล่างยาวราว 7-9 ซม.ส่วนอีกด้านซ้ายและขวา ยาวเท่ากัน ราว 4-6 ซม.(ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน) แต่ทแยงมุมกัน หรืออีนิยามหนึ่งคือรูปสี่เหลี่ยมที่มีแกนสมมาตรแบ่งครึ่งด้านคู่ขนานหนึ่งคู่นั้นเอง ซึ่งชาวมุสลิมทางภาคใต้เรียกกะว่า “ตาแม”
ส่วนประกอบของแกะที่สำคัญสำมีอยู่ 3 ส่วนคือ กระดานแกะทำด้วยไม้เนื้อแข็งนิยมไม้ชนิดเบาที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมข้างหมูหน้าจัวที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนที่ 2 ตาแกะ ตาแกะบางพื้นที่เรียกว่าคมแกะ ทำด้วยเหล็กกล้าที่ช่างดัดแปลงส่วนใหญ่มาจากใบเหล็กเลื่อย หรือมีดคม ยาวประมาณ 5-6 ซม.สูงครึ่ง ซม. มีหูแหลมๆ 2 ข้าง สำหรับตอกฝังไว้กับกระดานแกะ และส่วนสุดท้ายด้ามแกะ ทำจากไม้ไผ่เรี้ยบางที่เรียกสั้นๆ ว่า เรี้ย มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซ.ม. ยาวประมาณ 8-10 ซม. ที่กึ่งกลาง จะเจาะช่องชนาดเท่าความหนาของกระดานแกะ สำหรับฝังให้ติดกันแน่น
ภาพนี้:เฟสบุ๊ก“บางปะกง สานน้ำแห่งชีวิต”
เวลาใช้เอาแกะใส่เข้าในระหว่างนิ้วกลางกับนิ้วนาง จะใช้มือขวาหรือมือซ้ายก็ได้ตามความถนัดของแต่ละคน ใช้นิ้วชี้กับนิ้วโป้งจับรวงข้าว คือเวลาเก็บข้าวใช้นิ้วกลางเกี่ยวก้านรวงข้าวพอขาด เอานิ้วชี้ดึงเข้ามากำไว้กับนิ้วชี้และนิ้วโป้ง จะใช้แบบนี้ต้นต่อต้น ที่ละต้น พอได้ปริมาณราวหนึ่งกำรอบวงของนิ้วชี้กับนิ้มโป้งแล้ว จะใช้ต้นข้าวที่แข็งแรงที่สุดมาเป็นเชือกมัดปลายรวงข้าวที่เก็บแล้วเป็นมัดๆ จะทำอย่างนี้จนข้าวหมดไปในแปลงนา ส่วนต่อซังข้าวยังเหลือในนา บางคนจะตัดมาให้วัว ควาย บางคนปล่อยวัว หรือควายลงไปกินในนาจนหมด
ภาพนี้:สงขลาสร้างสุข
ย้อนอดีตเมื่อครั้งที่มีข้าราชการผู้ใหญ่ มาจากภาคกลาง ไปรับราชการในหน้าที่นักปกครอง มณฑลนครศรีธรรมราช เมื่อครั้งกระโน้น ไปเห็นชาวนาภาคใต้ใช้แกะเก็บข้าวที่ละรวง เห็นแล้ว ประมาณว่า เมื่อไรจะเก็บหมดแปลงนา จึงสั่งตีเคียวมาจากภาคกลางจำนวน กว่า 500 เล่ม เพื่อไปให้ชาวนาภาคใต้ เกี่ยวข้าว แทนการใช้ แกะ เก็บข้าว
ครั้งนั้นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทราบเข้า จึงสั่งห้าม เหตุผลทางวัฒนธรรมทางท้องถิ่นเพื่อไว้งซึ่งเอกลักษณ์ เพราะการทำนาในภาคใต้ส่วนใหญ่ทำในครัวเรือนสำหรับบริโภคในครัว เก็บแล้วแล้วนำข้าวไปในเรือนข้าวที่ปลูกคล้ายกระต็อบไว้กินตลอดปี ไม่ใช่นาแปลงใหญ่เหมือนภาคกลางที่ดเน้นการขายข้าว จึงทำให้ทางภาคใต้ มีแกะ เป็นเครื่อองมือเก็บข้าวที่เป็นเอกลักษณะของตัวเองสืบทอดกันมา แต่วันนี้แทบจะไม่ค่อยได้เห็นแล้ว
ข้อดีของการใช้แกะเก็บข้าว คือสามารถเลือกรวงข้าวสุกแยกออกจากรวงไม่สุกได้ รอให้สุกวันหลังค่อยมาเก็บเกี่ยว หากมีข้าวดีดมาแทรกสามารถละทิ้งได้เลย ขณะที่การใช้เคียวก็จะต้องรวบหมด และต้องตัดทั้งก้านสั้นก้านยาว คละปะปนกันไปรวมถึงข้าวดีดด้วย แต่แกะเลือกเฉพาะรวงที่ต้องการได้ แต่จะช้ากว่าการใช้เคี่ยวเกี่ยวข้าวอย่างภาคกลาง