สีสันสร้าง “บ้านปลา” เอสซีจีชุบชีวิตประมงพื้นบ้านระยอง(มีคลิป)

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดลมนัส  กาเจ

          เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปทำข่าวและไปดูเขาสร้าง “บ้านปลาเอสซีจี” ซึ่งเป็นโครงการที่ เอสซีจี ร่วมกับภาครัฐและชุมชนประมงพื้นบ้าน ช่วยกันสร้างบ้านปลามา 6 ปีแล้วและปีนี้เป็นปีที่ 7 :และได้จัดกิจกรรม รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที… จิตอาสาสร้างบ้านปลาเอสซีจีณ สวนสาธารณะแหลมเจริญ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระยอง

           งานนี้มีการะดมจิตอาสาช่วยกันสร้างบ้านปลาถึง 900 ชีวิตอย่างคึกคักและสนุกสนานมาก  โดยมีผู้ใหญ่เข้าร่วมด้วย อาทิ คุณชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี , คุณธีรวัฒน์ สุดสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง,คุณภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 ตัวแทนแกนนำเกษตรกรคือคุณไมตรี รอดพ้น ประธานวิสาหกิจชุมชนชมรมประมงเรือเล็กพื้นบ้าน อ.เมือง และ อ.บ้านฉาง สามัคค

          การสร้างบ้านปลา น่าสนใจมากครับ เพราะจะทำให้ทรัพยากรทางทะเลพวกกุ้ง หอย ปู ปลา ที่หายไปกลับคืนมาให้มีความสมบูรณ์อีกครั้ง สร้างรายได้ให้เกษตรกรที่เป็นชาวประมงพื้นบ้านเป็นอย่างดี

          ย้อนไปเมื่อ 7 ปีก่อน ซึ่งเป็นที่มาของโครงการบ้านปลา เกิดขึ้นจากการที่ทาง เอสซีจี(SCG) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทะเลชายฝั่ง ซึ่งเป็นแหล่งทำกินของประมงพื้นบ้าน และเป็นเสมือนคลังอาหารสำคัญของประเทศไทยที่มีพื้นที่ชายฝั่งทะเลถึง 2 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด 

         ด้วยเหตุนี้เอสซีจี จึงมุ่งสร้างการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มตั้งแต่การดูแลและพัฒนากระบวนการผลิตภายในโรงงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน  ไปจนถึงการปลูกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงาน คู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ ภาครัฐ องค์กรที่เกี่ยวข้อง ชุมชนและประชาชนทั่วไปให้ร่วมมือเพื่อแก้ไขและดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ โครงการ‘บ้านปลาเอสซีจี’ ได้รับการริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2555

 

        ปัจจุบันย่างเข้าปีที่ 7 ของการดำเนินงาน และได้ขยายความร่วมมือจนครอบคลุมชุมชนชาวประมงพื้นบ้านทั้งหมด 34 ชุมชน ในจ.ระยอง จ.ชลบุรี และ จ.จันทบุรี และมีการวางบ้านปลารวมกว่า1,400 หลัง ครอบคลุมพื้นที่อนุรักษ์กว่า 35 ตารางกิโลเมตร หรือกว่า 2 หมื่นตารางไร่ ซึ่งเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านช่วยกันดูแลให้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนและวัยเจริญพันธุ์ ที่ปลอดการจับปลา เพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ จนกลายเป็นขุมทรัพย์ใกล้ชายฝั่งให้ชาวประมงพื้นบ้านมีแหล่งทำมาหากิน มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี

         ในปีนี้(ปี 2561) เอสซีจีได้นำแนวคิดเรื่อง “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” ซึ่งเป็นการขยายผลสำเร็จของโครงการ รักษ์น้ำเพื่ออนาคต เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนและเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ตามพระราชปณิธานจากภูผาสู่มหานที  ตั้งแต่ ต้นน้ำ – ป่าไม้ ไปจนถึง กลางน้ำ – เกษตรกรรม และ ปลายน้ำ – ประมง ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชนให้เข้าใจการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองอย่างแท้จริง ส่งเสริมให้ทุกคนมีความหวงแหนและเป็นเจ้าของร่วมกัน  ซึ่งโครงการบ้านปลาเอสซีจี ถือเป็นส่วนหนึ่งของรักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที

         ส่วนบ้านปลาที่สร้างนั้น เป็น นวัตกรรมบ้านปลาเอสซีจีจากท่อ PE100 ซึ่งเป็นท่อที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกโพลิเอทีลีนเกรดพิเศษ (High Density Polyethylene Pipe) ของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ที่เหลือจากกระบวนการทดสอบขึ้นรูปเป็นการสร้างคุณค่าให้กับสิ่งของเหลือใช้ (Waste to Value) ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยท่อ PE100 นี้ ใช้เป็นท่อส่งน้ำและท่อส่งก๊าซ มีความแข็งแรงทนทานอายุการใช้งานนานกว่า 50 ปี

          ที่สำคัญเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผ่านการทดสอบคุณสมบัติท่อด้วยสถาบัน VTT, Finland และสถาบันอื่นๆ จากทั่วโลก ในด้าน SFS-EN ISO 8795:2001 โดยนำน้ำที่สกัดสารเคมีออกจากท่อ มาทดสอบหาสารอันตราย และทดสอบเรื่องกลิ่นหรือสารปนเปื้อนจากผู้เชี่ยวชาญ จากการทดสอบพบว่าปลอดภัยไม่มีสารเคมีที่อันตรายออกมาสู่น้ำทะเล จึงเหมาะกับการนำมาใช้เป็นวัสดุสำหรับสร้างบ้านปลา การประกอบบ้านปลาจะใช้ท่อ PE100 ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 110 มม. เชื่อมต่อเป็นบ้านปลา ขนาดประมาณ 2 ตารางเมตรต่อหลัง (กว้าง 1.2 เมตร ยาว 1.2 เมตร สูง 1.1 เมตร) น้ำหนัก  120 กิโลกรัม  โดยลักษณะการจัดวาง จะใช้ลูกปูน น้ำหนักราว 10 กิโลกรัม วางที่ฐานบ้านปลาโดยการใช้ท่อเป็นวัสดุหลักช่วยให้น้ำสามารถไหลเข้าออกได้สะดวก เหมาะแก่การเข้ามาอยู่อาศัยของสัตว์น้ำขนาดเล็ก

จำลอง: ลักษณะการจัดวางบ้านปลา 1 กลุ่ม

           นอกจากนี้ ดีไซน์ของบ้านปลาเอสซีจียังเกิดจากการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันระหว่าง เอสซีจี สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ 1 (ระยอง) และชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง ทำให้สามารถปรับปรุงรูปทรงของบ้านปลาจากเดิมที่เป็น “ทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์” ให้เป็น“ทรงสามเหลี่ยม”ที่ตอบโจทย์และใช้งานได้จริง โดยเหลี่ยมมุมที่ลดลงช่วยลดปัญหาขอบท่อเกี่ยวอวนขาด ช่วยให้ประกอบง่ายขึ้นและใช้วัสดุน้อยลง น้ำหนักเบาลงง่ายต่อการขนย้ายเพื่อนำไปวางในทะเล และยังคงทนต่อกระแสน้ำ ไม่พลิกหรือเคลื่อนย้ายง่ายเมื่ออยู่ในทะเล พื้นที่การจัดวางอยู่ในรัศมีของการทำประมงพื้นบ้าน (เรือเล็ก) และเป็นพื้นที่ที่กลุ่มประมงพื้นบ้านสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง โดยจัดวางใกล้กันอย่างน้อย 10 หลัง คิดเป็นพื้นที่ราว 20 ตารางเมตรต่อกลุ่ม 

[adrotate banner=”3″]

ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ “บ้านปลาเอสซีจี”

           ยิ่งใหญ่กว่า‘การมอบบ้านให้ปลา’คือ ‘การสร้างและสานต่อความร่วมมือ’ ระหว่างภาครัฐ เอกชน ชุมชน และจิตอาสา เพื่อส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ทรัพยากรชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปัจจุบันมีพื้นที่อนุรักษ์ในทะเลจังหวัดระยอง ชลบุรี และจันทบุรี รวม35 ตารางกิโลเมตร จากการสำรวจเมื่อเดือนธันวาคม 2560 พบความหลากหลายทางชีวภาพและความสมบูรณ์มากขึ้น คือสิ่งมีชีวิตในทะเลบริเวณบ้านปลาเพิ่มขึ้นเป็น 172 ชนิด เป็นปลาจำนวน 35 ชนิด เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งสุดท้าย พบสิ่งมีชีวิตในทะเลบริเวณบ้านปลาเป็น 120 ชนิด เป็นปลาจำนวน 28 ชนิด

        กลุ่มสัตว์น้ำเศรษฐกิจ พบ อาทิ ปลาข้างเหลือง ปลากะรัง ปลาสละ ปลากุแล ปลาสลิดทะเล ปลากะพง ปลากะรอกแดง ปูหิน หอยแมลงภู่ และกั้ง มีกลุ่มปลาสวยงาม เช่น ปลาหูช้าง ปลาโฉมงาม กลุ่มสัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น ลูกปู ลูกกุ้ง ลูกหอย ลูกปลาวัยอ่อน ตัวอ่อนแมงกะพรุน และตัวอ่อนของปะการัง กลุ่มสัตว์เกาะติด เช่น เพรียงหิน ฟองน้ำ หอยสองฝา กัลปังหา และสาหร่ายทะเล และ  กลุ่มแพลงก์ตอน เช่น แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ ซึ่งเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตกลุ่มอื่นๆ เป็นต้น

        นับเป็นโครงการดีๆ ที่ไม่เพียงแต่จะให้ทรัพยากรน้ำมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นแล้ว ยังเป็นช่วยให้คนในชุมชนมีความสามัคคีและหันมาร่วมมือในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่อีกด้วย และที่สำคัญชาวประมงชายฝั่งต่างยืนยันว่า 6 ปีที่มีการสร้างบ้านปลาขึ้นมา ชาวประมงหากินคล่องขึ้น มีรายได้มากขึ้นเท่าตัว ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีกินดีขึ้น เหตุผลเพราะอะไรอย่างไร โปรดติดตามในวันพรุ่งนี้ 27 มิ.ย.61