อธิบดีกรมประมง ชูศักยภาพศูนย์วิจัยฯจังหวัดพังงา สามารถผลิตและขยายพันธุ์สัตว์น้ำมูลค่าสูง “ปลิงทะเลขาว-ปลากะพงแดง” ให้เกษตรกรต่อยอดเลี้ยงเป็นอาชีพ เผยอย่างปลิงทะเลขาวสดๆ ราคากก.ละ 500 บาท ตากแห้ง กก.ละ 7,000 ขณะที่ปลากะพงแดงตั้งเป้าใหม่ให้ผลิตลูกปลาได้เดื่อนละ 10,0000 ตัว รวมถึงยังมีความโดดเด่นในการอนุบาลสัตว์ทะเลหายาก ใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 28 มีนาคม 2567 นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมประมง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง รวมถึงความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลิงทะเลขาวและปลากะพงแดง ตลอดจนร่วมกิจกรรมปล่อยเต่าลงสู่ทะเล เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลและฟื้นฟูระบบนิเวศให้ยั่งยืน
นายบัญชา กล่าวว่า การเข้าเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงาครั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน โครงการผลักดันสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง โดยมีการนำนวัตกรรมทางการเกษตรมาใช้เป็นกลไกของการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน”
ในส่วนด้านประมง กรมประมงได้มีการส่งเสริมในการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตด้านประมงให้มีคุณภาพและปริมาณตรงต่อความต้องการของตลาดรวมถึงพัฒนาสินค้าโดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าให้เกิดมูลค่าสูงให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล สามารถขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศ เพิ่มรายได้และความยั่งยืนให้กับสร้างอาชีพแก่เกษตรกรตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำหรับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา เป็นศูนย์ฯ ที่มีศักยภาพ สามารถเพาะพันธุ์อนุบาลสัตว์น้ำได้หลายชนิด ทั้งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีความโดดเด่นในการอนุบาลสัตว์ทะเลหายาก ใกล้สูญพันธุ์ เช่น เต่าทะเล อีกด้วย ปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตลูกพันธุ์ปลิงขาว ซึ่งเป็นสัตว์น้ำมูลค่าสูงที่สำคัญของจังหวัดอีกด้วย โดยปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการที่ 4 ของจังหวัดพังงา และยังเป็นสินค้าสัตว์น้ำชนิดแรกของจังหวัดในชื่อสินค้า “ปลิงทะเลเกาะยาว”
ทั้งนี้ ปลิงทะเล เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย มีโปรตีนสูงถึง 55% และมีปริมาณคอลลาเจน 18.38 % ซึ่งสูงกว่าในหูฉลามบางชนิดและตีนไก่ในปริมาณที่เท่ากัน จึงเป็นวัตถุดิบสำคัญทางยาและเครื่องสำอาง ปัจจุบันมีการจับปลิงมาใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีความต้องการของตลาดสูงขึ้น โดยราคาการจำหน่ายปลิงขาวสดน้ำหนัก 400-500 กรัมต่อตัว ราคาประมาณ กิโลกรัมละ 500 บาท และปลิงขาวตากแห้งราคากิโลกรัมละ 3,000 – 7,000 บาท ส่งจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ซึ่ง กรมประมง มีนโยบายสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรด้านประมงเป็นสินค้า GI ในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป
นอกจากนี้ ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา ยังประสบความสำเร็จในการเพาะพันธ์ุปลากะพงแดง ซึ่งแต่เดิมจะสามารถหาได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติเท่านั้น เนื่องจาก กรมประมง ได้เล็งเห็นความสำคัญของสัตว์น้ำชนิดนี้ ที่จะสามารถพัฒนาศักยภาพในการเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี จึงได้มีการศึกษาและวิจัยการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ โดยเริ่มทำการรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาจากธรรมชาติมาขุนเลี้ยงในโรงเพาะฟักเมื่อปี 2561 จากนั้นได้ทำการศึกษาวิจัยระบบการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ในระบบโรงเพาะฟักอย่างต่อเนื่องจนสามารถขุนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ให้มีความสมบูรณ์เพศสามารถวางไข่และให้ตัวอ่อน ได้สำเร็จในปี 2565
จากนั้นได้พัฒนาเทคนิคการอนุบาลในโรงเพาะฟักสามารถอนุบาลลูกปลากะพงแดงจากอายุ 1 วัน ถึง 90 วัน มีขนาด 8 – 10 เซนติเมตรซึ่งเป็นขนาดที่เกษตรกรสามารถนำไปเลี้ยงจนจำหน่ายได้ ปัจจุบันทางศูนย์ฯ สามารถผลิตลูกปลาได้ 3,000 – 4,000 ตัวต่อเดือน และกำลังพัฒนาเทคนิคการเพาะพันธุ์และอนุบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีลูกปลาเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 10,000 ตัวต่อเดือน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ส่งเสริมการเลี้ยงให้เกษตรกรนำลูกพันธุ์ปลาจากโรงเพาะฟัก นำไปเลี้ยงต่อในกระชัง บ่อดิน และบ่อคอนกรีต ซึ่งได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก
ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมประมง ยังได้ร่วมกิจกรรมปล่อยเต่าลงสู่ทะเล ประกอบด้วย เต่าตนุ จำนวน 10 ตัว และเต่ากระ จำนวน 1 ตัว ลงสู่ทะเล เพื่อเพิ่มจำนวนเต่าทะเลในระบบนิเวศ และการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการอนุรักษ์เต่าทะเลหายาก เพื่อให้ทรัพยากรทางทะเลคงความสมบูรณ์ตลอดไป