กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ออกประกาศฉบับที่ 20/2566 ให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในพื้นที่ 2 จังหวัดภาคตะวันออก 10 ภาคใต้ ขณะที่พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำเจ้าพระยาระวังน้ำล้นตลิ่ง และอีก ุ6 อ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยงน้ำล้น
ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ฉบับที่ 20/2566
เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง และอ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ติดตามสภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง ภาคตะวันออก โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคใต้ กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามีพื้นที่เฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 25 – 30 กันยายน 2566 ดังนี้
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม
1.1 ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง (อำเภอเมืองระยอง แกลง ปลวกแดง และเขาชะเมา),จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี มะขาม ท่าใหม่ สอยดาว เขาคิชฌกูฏ แหลมสิงห์ และขลุง),จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด เขาสมิง บ่อไร่ เกาะกูด และเกาะช้าง)
1.2 ภาคใต้ จังหวัดชุมพร (อำเภอท่าแซะ และพะโต๊ะ),จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กะเปอร์ ละอุ่น สุขสำราญ และกระบุรี),จังหวัดพังงา (อำเภอเมืองพังงา คุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง และท้ายเหมือง),จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง),จังหวัดกระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่ เขาพนม อ่าวลึก คลองท่อม ปลายพระยา และเกาะลันตา), จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี พนม บ้านตาขุน และเกาะพะงัน),จังหวัดสตูล (อำเภอเมืองสตูล ควนโดน ควนกาหลง ทุ่งหว้า และมะนัง),จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง ปะเหลียน นาโยง กันตัง ห้วยยอด หาดสำราญ รัษฎา และวังวิเศษ),จังหวัดพัทลุง (อำเภอป่าบอน และตะโหมด),จังหวัดสงขลา (อำเภอสะเดา),และจังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอช้างกลาง พิปูน ฉวาง ทุ่งใหญ่ และถ้ำพรรณรา)
2. พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำแควน้อย จังหวัดพิษณุโลก,แม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา,ลำน้ำก่ำ จังหวัดนครพนม,ลำเซบาย จังหวัดยโสธร,แม่น้ำลำปาว อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์,ลำน้ำยัง อำเภอโพนทอง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด,แม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี,แม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง,แม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
3.เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด(Upper Rule Curve) จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่,อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี}อ่างเก็บน้ำน้ำพุง อ่างเก็บน้ำน้ำอูน และหนองหาร จังหวัดสกลนคร,อ่างเก็บน้ำลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์,อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1.ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน
2.ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ
3.ปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ ระบบชลประทาน เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ตามศักยภาพคลองชลประทาน ในแต่ละช่วงเวลาที่สามารถรองรับได้ พร้อมเร่งระบายน้ำท่วมขังรวมทั้งจัดจราจรทางน้ำเพื่อหน่วงน้ำลดผลกระทบทางด้านท้ายน้ำ และคำนึงถึงการเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุดสำหรับฤดูแล้งที่กำลังจะถึงนี้ด้วย
ประกาศ ณ วันที่ 22 กันยายน 2566