ดีพร้อม นำทัพ จัด 3 มหกรรมคุณภาพองค์กรแห่งชาติ ปี 66 ย้ำ “คิวซี” เป็นสิ่งสำคัญ สามารถลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิตได้กว่า 4,000 ลบ.

  •  
  •  
  •  
  •  


กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) จับมือสมาคมส่งเสริมคุณภาพแห่งประเทศไทย เดินหน้าแผนยกระดับกลุ่มคุณภาพ หรือคิวซี ภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จัดงานมหกรรมคิวซีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 37 มหกรรมคุณภาพภาครัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 34 และมหกรรมคุณภาพข้ามสายงาน ครั้งที่ 6 มุ่งส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชนได้นำเสนอกิจกรรมของกลุ่มคุณภาพ เพื่อเป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมมหกรรมคุณภาพนานาชาติ ด้านกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ปลื้มดันผู้ประกอบการชูนวัตกรรม นำเทคโนโลยี ลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิตได้กว่า 4,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าขยายภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องชิงความได้เปรียบในตลาดสากล

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมในโลกยุคปัจจุบัน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันหรือคิดค้นกลยุทธ์ที่ทำให้ธุรกิจมีความแตกต่างจากผู้อื่น ตามนโยบายของนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในเรื่องคุณภาพและประสิทธิภาพทั้งในส่วนของภาคการผลิตและภาคบริการ ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กรอย่างต่อเนื่อง เมื่อคุณภาพของสินค้าและบริการดีขึ้นจะสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตขององค์กรในมิติต่าง ๆ ให้สูงขึ้นได้

ใบน้อย สุวรรณชาตรี

ทั้งนี้สอดคล้องกับการทำงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ที่เน้นความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมโต” ผ่านกลไก “โตไว” ที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตทั้งภาคการผลิต สินค้า และบริการได้อย่างมั่นคง อันจะส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งต่อระบบเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคเอกชนนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับคุณภาพทั้งภาคการผลิตและบริการ ควบคู่กับการพัฒนาภาคการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุน การแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันทำให้อุตสาหกรรมไทยอยู่รอดและสามารถแข่งขันได้ในยุคนิวนอร์มอลต่อไป

โดย ดีพร้อม ได้ร่วมกับสมาคมส่งเสริมคุณภาพแห่งประเทศไทยในการส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชน นำกิจกรรมของกลุ่มคุณภาพ หรือ คิวซี มาปรับใช้ในองค์กรทำให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กรและแก้ไขปัญหานำมาสู่การปฏิบัติที่ก่อให้เกิดผลด้านบวก โดยแต่ละองค์กรจะมีการบริหารงานด้านวัตถุดิบและขบวนการผลิต ด้วยการป้องกัน ลดปัญหาการสูญเสียทั้งวัตถุดิบ ต้นทุนการผลิต เวลาการทำงาน และผลผลิต เพื่อให้ได้คุณภาพและมาตรฐานตรงตามความต้องการของลูกค้า

อีกทั้ง ยังช่วยลดต้นทุนและสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ผ่านการจัดงานมหกรรมคิวซีแห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 37 ซึ่งได้นำงานมหกรรมคุณภาพ ภาครัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 34 และมหกรรมคุณภาพข้ามสายงาน ครั้งที่ 6 มาไว้ด้วยกันเพื่อให้การทำกิจกรรมคุณภาพในหน่วยงานแพร่หลายยิ่งขึ้น และมีการพัฒนาคุณภาพงานให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังเป็นการเผยแพร่และสนับสนุนกิจกรรมคุณภาพในทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคราชการ ภาครัฐวิสาหกิจ ทั้งการผลิตและการบริการ ตลอดจนเปิดโอกาสให้กลุ่มคุณภาพรุ่นใหม่ได้มีเวทีสำหรับการเสนอผลงาน นอกจากนี้ ยังได้คัดเลือกกลุ่มคุณภาพยอดเยี่ยมเป็นตัวแทนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมเสนอผลงานในมหกรรมคุณภาพนานาชาติต่อไป

งานมหกรรมคิวซีแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ กำหนดจัดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 22 – 25 พฤษภาคม 2566 รวม 4 วัน โดยได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่าง ๆ ส่งกลุ่มคุณภาพเข้าร่วมในครั้งนี้กว่า 90 กลุ่ม จาก 28 องค์กร แบ่งออกเป็นภาคอุตสาหกรรม 80 กลุ่ม ภาคราชการและรัฐวิสาหกิจ 6 กลุ่ม และกลุ่มคุณภาพข้ามสายงาน 5 กลุ่ม โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ จากการนำเสนอผลงานของกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ต่ำกว่าวันละ 300 คน

อย่างไรก็ตามจากผลการดำเนินการของกลุ่มคุณภาพในปีที่ผ่านมา สามารถสร้างความได้เปรียบให้องค์กร ทำให้สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงทั้ง 28 องค์กร สามารถลดต้นทุน ลดของเสีย ลดเวลาการผลิต ลดการใช้แรงงาน ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้รวมกว่า 4,000 ล้านบาท นับว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จของกิจกรรมกลุ่มคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม

“การยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไทย ทั้งภาคการผลิตและบริการสู่มาตรฐานสากล ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน และการที่จะพัฒนาคุณภาพงานได้นั้น บุคลากรต้องได้รับการพัฒนาควบคู่กันไป เพราะสินค้าและบริการจะพัฒนาไม่ได้ ถ้าบุคลากรไม่มีจิตสำนึกและไม่มีคุณภาพ เราจึงต้องพัฒนาปรับปรุงอย่างก้าวกระโดด ซึ่งการดำเนินงานมหกรรมคุณภาพที่ผ่านมาได้ส่งผลเชิงบวก ต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยทั้งในด้านการเพิ่มผลผลิตและการลดต้นทุน นับเป็นการสร้างความได้เปรียบให้องค์กรไทยในการแข่งขันทั้งตลาดในและต่างประเทศอย่างเข้มแข็งเป็นไปตามพันธกิจของดีพร้อมที่มุ่งเน้นและพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไทยสู่มาตรฐานสากลอย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายใบน้อย กล่าว