อธิบดีฝนหลวงฯ สั่งปรับแผน “ทำฝนแบบเต็มอิ่ม” ตั้ง 12 หน่วยปฏิบัติการ ช่วยพื้นที่เกษตร-ลุ่มรับน้ำทั่วไทย

  •  
  •  
  •  
  •  

อธิบดีฝนหลวงฯ สั่งปรับแผน “ทำฝนแบบเต็มอิ่ม” ตั้ง 12 หน่วยปฏิบัติการ ช่วยพื้นที่เกษตร-ลุ่มรับน้ำทั่วประเทศ รองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฤดูการเพาะปลูกของภาคเกษตรกรรมกำลังเริ่มขึ้น หลังพบว่า พบว่าในปีนี้ปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบให้ฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม มีฝนตกน้อยกว่าปี 2565 อาจทำให้เกิดฝนทิ้งช่วงตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป และเกิดความแห้งแล้งขึ้นจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นกว่าปกติด้วย

วันที่ 1 พฤษภาคม 2566  นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์การเพาะปลูกของภาคเกษตรกรรมกำลังเริ่มขึ้น เกษตรกรส่วนใหญ่เริ่มทำการเพาะปลูกตามปฏิทินการเพาะปลูกประจำปี โดยพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตรต้องดูแลรับผิดชอบพื้นที่ประมาณ 78% หรือจำนวนประมาณ 116 ล้านไร่ จากพื้นที่เกษตรกรรมและป่าไม้ทั้งหมด 230 ล้านไร่ และจากสถานการณ์ฝนตกตั้งแต่ช่วงต้นปีถึงปัจจุบัน มีฝนตกเพียงเล็กน้อย บางพื้นที่ยังไม่มีฝนตก ทำให้สถานการณ์น้ำและความชื้นในดินมีค่อนข้างต่ำ ขณะเดียวกันมีเกษตรกรและประชาชนขอรับบริการฝนหลวงเข้ามาจากทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ทั้งนี้พื้นที่ที่มีการขอฝนหลวงมากที่สุด (ข้อมูล ณ 30 เม.ย. 2566) คือ บริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (163 แห่ง) ภาคใต้ (152 แห่ง) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (143 แห่ง) รวมถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ เริ่มมีปริมาณเก็บกักลดน้อยลงตามลำดับ บางแห่งมีปริมาณน้ำต่ำกว่า 50% และทางกรมชลประทานมีการขอสนับสนุนให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ จำนวน 70 แห่ง อีกทั้งจากการคาดการณ์สภาพอากาศของปี 2566 พบว่า ในปีนี้ปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบให้ฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม มีฝนตกน้อยกว่าปี 2565 เกิดฝนทิ้งช่วงตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป และเกิดความแห้งแล้งขึ้นจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นกว่าปกติ

นายสุพิศ กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงมีการปรับแผนการทำงานเพื่อรับมือกับภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป ได้สั่งการให้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 12 หน่วยฯ ทั่วทุกภูมิภาค ใช้อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 23 ลำ และอากาศยานที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ จำนวน 6 ลำ รวม 29 ลำ ประกอบด้วย ภาคเหนือตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ตาก

ภาคเหนือตอนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัตการฝนหลวงที่ จ.พิษณุโลก,ภาคกลาง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.ลพบุรี และ จ.กาญจนบุรี,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.ขอนแก่น,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.นครราชสีมา และ จ.อุบลราชธานี
,ภาคตะวันออก ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.จันทบุรี, และภาคใต้ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.สุราษฎร์ธานี จ.สงขลา และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

อย่างไรก็ตาม ตนได้กำชับให้นักวิทยาศาสตร์ นักบิน ช่างอากาศยาน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ และความต้องการน้ำของพี่น้องประชาชนเป็นประจำทุกวันอย่างใกล้ชิดเพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงเชิงรุกให้มีปริมาณน้ำเต็มอิ่ม เพียงพอสำหรับทำการเกษตร การอุปโภคบริโภค และมีปริมาณน้ำเก็บกักสำหรับใช้การ ทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้า น้ำประปา รวมถึงด้านอุตสาหกรรมอีกด้วย

ส่วนทางด้านการเฝ้าระวังการเกิดพายุลูกเห็บเนื่องจากพายุฤดูร้อน กรมฝนหลวงฯ ยังคงมีทีมปฏิบัติการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเดือนพฤษภาคม โดยมีอากาศยานกรมฝนหลวงและการบินเกษตรชนิด Super King Air จำนวน 2 ลำ ประจำการอยู่ที่หน่วยฯ จ.พิษณุโลก และอากาศยาน ชนิด Alpha Jet ของกองทัพอากาศ จำนวน 1 ลำ ประจำการอยู่ที่หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ เพื่อปฏิบัติการบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บ อย่างไรก็ตาม พี่น้องประชาชน เกษตรกร สามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร แจ้งสถานการณ์ความต้องการน้ำเพื่อขอรับบริการฝนหลวงได้เป็นประจำทุกวันที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภูมิภาค อาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ หน่วยงานอำเภอ-จังหวัด ช่องทางโซเชียลมีเดีย @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-1095100 ต่อ 410