นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ฯ ค้นพบ “ก่อลูกเอียด” พรรณไม้ในวงศ์ไม้โอ๊คชนิดใหม่ของโลกที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว จ. ระนอง มีผลขนาดเล็กเล็กและใกล้สูญพันธุ์
รศ.ดร.สราวุธ สังข์แก้ว อาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ นายอรุณ สินบำรุง นายสุคิด เรืองเรื่อ จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ ดร.อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์ จากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ร่วมกันตีพิมพ์ผลงานพรรณไม้ในวงศ์ไม้โอ๊ค (Fagaceae) ชนิดใหม่ของโลก (species new to science) คือ “ก่อ” ซึ่งพบที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว จ. ระนอง โดยตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่ ผศ. ดร.วิชาญ เอียดทอง อาจารย์ผู้ล่วงลับ ผู้เชี่ยวชาญด้านพรรณไม้ ของภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ก่อชนิดนี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Lithocarpus eiadthongii Sinbumr., Rueangr. & Sungkaew ตีพิมพ์ในวารสาร Phytotaxa เล่มที่ 541(1) หน้า 73-78 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) ก่อชนิดนี้มีชื่อไทยว่า “ก่อลูกเอียด” เนื่องจากผลมีขนาดเล็ก โดยคำว่า “เอียด” ในภาษาใต้แปลว่า “เล็ก”
ก่อเอียด เป็นไม้ต้นไม่ผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15-35 เมตร โคนต้นมักมีพูพอน พบในป่าดิบชื้นที่ระดับความสูง 60-260 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง มักพบตามไหล่เขา มีลักษณะเด่นที่ช่อผลค่อนข้างสั้น ยาว 4-10 ซม. ผลมีขนาดเล็ก ถ้วยผลมีก้านชูยาว 3-6 มม. ถ้วยผลมีลักษณะคล้ายวงแหวนเรียงกัน (5)6-9 วงเห็นได้ชัดเจน ตัวผลรูปไข่หรือรูปไข่กลับ
เบื้องต้นคาดว่าก่อเอียดน่าจะเป็นพืชถิ่นเดียว (Endemic species) ของประเทศไทย และมีสถานภาพทางการอนุรักษ์ (Conservation status) เป็น “สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (Vulnerable species)” เนื่องจากพบประชากรของก่อเอียดเพียงไม่กี่แหล่งในประเทศไทย ได้แก่ อุทยานแห่งชาติน้ำตก หงาว จ. ระนอง และ อุทยานแห่งชาติศรีพังงา จังหวัดพังงา
ข่าวโดย…ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์